นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นผลสำเร็จของการใช้สารสกัดจากกัญชา CBD ในทางการแพทย์ เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคลมชักบางชนิดในเด็ก เป็นต้น ซึ่งกัญชามีสารในกลุ่มที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ THC (Tetrahydrocannabinol (เตตราไฮโดรแคนนาบินอล)) และ CBD (Canna bidiol (แคนนาบิไดออล)) โดยสารทั้งสองเมื่ออยู่ในร่างกายจะจับกับตัวรับแคนนาบินอยด์ในระบบประสาท

โดยพบว่า CBD ทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย ลดอาการวิตกกังวล ลดอาการทางจิต ลดอาการคลื่นไส้ และที่สำคัญไม่ทำให้มึนเมาหรือเสพติด ทั้งนี้สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่งสังกัดกรมการแพทย์ ได้เล็งเห็นประโยชน์จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ CBD โดยเฉพาะฤทธิ์คลายวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการทางจิต

โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ติดยาบ้า หรือเมทแอมเฟตามีน และเกิดอาการถอนยา ซึ่งการเสพติดยาบ้าเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ข้อมูลจากระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) มีผู้เสพยา เสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาปีละประมาณ 200,000 คน เป็นผู้ที่ใช้ยาบ้าสูงที่สุดมากกว่าร้อยละ 75 และพบว่าอาการทางจิตจากยาบ้ามีแนวโน้มรุนแรงและพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอในการรักษาผู้ติดยาบ้า

นพ.ธงชัยกล่าวว่า สบยช.จึงร่วมกับ รพ.ธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่งทำวิจัย โดยใช้สารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน เปรียบเทียบกับการใช้ยา Bupropion ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการถอนยาเมทแอมเฟตามีน และคาดหวังว่าจะสามารถใช้ CBD เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้า ลดการกลับไปเสพซ้ำ และลดการนำเข้ายาในการรักษาจากต่างประเทศ.

...