“กฐิน”...เป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญของพุทธศาสนิกชนที่ได้ สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชนจนมาถึงปัจจุบัน ตามหลักของพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ว่าอนุญาตให้พระภิกษุสามเณรที่ได้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสคือเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว...

สามารถรับกฐินจากพุทธศาสนิกชนได้ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในกรอบเวลา 1 เดือน การทำบุญเช่นนี้เรียกว่า “ทอดกฐิน” แต่ถ้านอกเหนือจากเวลาที่กำหนดนี้แล้วเรียกว่า “ทอดผ้าป่า” ดังเป็นที่ทราบกันดีของชาวพุทธทั่วไปอยู่แล้ว

สำหรับในปีนี้เวลาในการทำบุญทอดกฐินได้ตรงกับวันอังคารที่ 11 ตุลาคม-วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2565 จึงถือว่าเป็นเทศกาลทำบุญอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชนในรอบหนึ่งปีเลยทีเดียว

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน บอกว่าการทอดกฐินนั้นถือว่าเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นการให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนพระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาจำพรรษาอยู่เป็นหลักแหล่ง ท่านไม่เดินทางไปค้างแรมที่ไหนตลอดเวลา 3 เดือนที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม

...

จึงได้ตั้งใจนำกฐินไปทอดถวายแก่นักบวชที่สมควรแก่สมณบริโภค แต่ละรูปจะได้มีไตรจีวรเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้วจาริกไปโปรดญาติโยมตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงไปเผยแผ่ธรรมะภายนอกวัดโดยสามารถไปค้างคืนในพื้นที่วัดอื่นๆได้ รวมถึงเป็นการเดินทางไปทำบุญและไปท่องเที่ยวของประชาชนเป็นรายบุคคลบ้าง

...เป็นครอบครัวบ้าง เป็นหมู่คณะบ้าง จุดนี้เองจึงจะเกิดประโยชน์ทั้งแก่คนที่ให้คือ “ทายก ทายิกา” และแก่ผู้รับคือ “พระภิกษุสามเณร” จนก่อให้เกิดความรักความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“กฐิน”...มีหลายชนิดเมื่อเรียกตามพิธีกรรม นับตั้งแต่กฐินหลวง กฐินต้น กฐินพระราชทาน กฐินราษฎร์ กฐินสามัคคี กฐินทรงเครื่อง กฐินโจรและจุลกฐิน แต่สุดท้ายก็ยังเรียกรวมว่าเป็น “กฐิน” อยู่ดี

สำหรับ กฐินหลวง นั้นเป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงนำไปทอดถวายแด่พระภิกษุสามเณรที่ได้จำพรรษาถ้วนไตรมาสในพระอารามหลวงที่ได้มีพระราชพิธีมีหมายกำหนดการอย่างเป็นทางการไว้ล่วงหน้าแล้วทุกปี ส่วน กฐินต้น นั้นพระมหากษัตริย์ทรงนำไปทอดถวายแก่วัดเป็นการส่วนพระองค์ตามวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ตามพระราชอัธยาศัยและ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้แก่ข้าราชการ หน่วยงาน องค์กร บุคคล คณะบุคคลนำไปทอดถวายวัดแทนพระองค์

กฐินทั้ง 3 ชนิดนี้มักเรียกรวมว่าเป็น “กฐินหลวง”

ส่วน “กฐิน” ที่ประชาชนพุทธศาสนิกชนทั่วไปนำไปทอดถวายพระภิกษุสามเณรตามวัดวาอารามต่างๆเรียกว่า “กฐินราษฎร์” คือ...กฐินที่ประชาชนส่วนตัวบ้าง หมู่คณะบ้าง นำไปทอดถวายตามวัดราษฎร์ แต่ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปร่วมใจกันเป็นกลุ่มใหญ่มักเรียกว่า “กฐินสามัคคี”

คือ...การรวมใจกันหลายคน หลายฝ่าย หลายสังคม หลายพื้นที่ มาพร้อมเพรียงกันในวันที่กำหนดขึ้นภายใน 1 เดือนของการทอดกฐิน ส่วนกฐินที่มีผ้าป่าสมทบด้วยก็เรียกว่า “กฐินทรงเครื่อง” เพราะมีองค์ ประกอบมากขึ้นกว่าความจำเป็นขององค์กฐินหรือเรียกว่ามีบริวารต่างๆ มากขึ้น

แล้วก็มาถึงกฐินที่วัดนั้นๆไม่มีใครจองหรือไม่มีใครแจ้งว่าจะนำไปทอดถวายได้กลายเป็น “วัดที่ตกค้างไม่มีผู้นำกฐินมาทอดเลย” ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสผ่านไปวัดนั้นๆก็นำกฐินไปทอดถวายเลย จึงเรียกว่า “กฐินโจร”...เป็นชื่อที่น่ากลัวแต่กลับกลายเป็นกฐินที่ดีและมีคุณค่าจนสามารถทำให้พระภิกษุสามเณรได้รับอานิสงส์จากการจำพรรษา และกฐินอีกชนิดหนึ่งที่แทบจะไม่ค่อยพบเห็นแล้วคือ “จุลกฐิน”

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กฐินแล่น หรือกฐินน้อย” เพราะมีเวลาน้อยในการเตรียมการและทอดกฐิน ซึ่งทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงสำเร็จตามพิธีกรรมใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงจะต้องแล้วเสร็จสมบูรณ์

...

นับตั้งแต่การเริ่มหาด้ายจากต้นด้ายนำมาทำเป็นเส้นด้าย นำมาทอมาปั่นให้เป็นผ้า นำไปย้อมนำไปตัด นำไปเย็บเป็น “ผ้าไตรจีวร” ที่จะนำไปทอดถวายแด่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในอารามนั้นๆ

ดังนั้นกฐินชนิดนี้จึงหาดูยากมากทีเดียว กิจกรรมทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ ความรู้ความเข้าใจและเสียสละทุ่มเทอย่างแท้จริง กฐินนี้จึงจะสำเร็จตามเป้าหมายเพราะภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้นจึงจะเป็น “จุลกฐิน” แต่ทั้งหมดเป็นข้อปลีกย่อยตามพิธีกรรมที่ได้ทำเป็นประเพณีอันดีงามที่ชาวพุทธได้สืบทอดกันมา

เป้าหมายสูงสุดคือ “การได้ทำบุญตามกาลเวลาที่ได้ถูกกำหนดไว้” จึงถือว่าเป็นการทำบุญอันยิ่งใหญ่และมีอานิสงส์มากที่สุดในรอบหนึ่งปี

พระมหาสมัย บอกอีกว่า วัดวาอารามต่างๆในประเทศไทยมี 30,000 กว่าวัด มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่กว่าสองแสนรูป จึงถือว่าพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาสามารถเลือกทำบุญได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามที่อยู่ใกล้บ้านท่านหรืออยู่ไกลบ้าน ขอจงได้ดำเนินการตามศรัทธาเถิดจะเกิดเป็นบุญกุศลให้กับตัวเรา ครอบครัว...หมู่คณะของเรา ทำเองก็ถือว่าได้เสียสละเพื่อพระพุทธศาสนา

...

“ไปร่วมบุญก็ถือได้ร่วมสนับสนุน ไม่ได้ไปร่วมบุญแต่ได้ส่งใจไปร่วมบุญด้วยก็ถือว่าได้ร่วมอนุโมทนาด้วย...ผลจากการนำกฐินของพุทธศาสนิกชนไปทอดถวายวัดดังกล่าวนั้นยังสามารถนำปัจจัยที่รวบรวมได้ทั้งหมดไปบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว”

นำไปก่อสร้างเสนาสนะหรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวัดและต่อชาวบ้านได้อย่างดี หรือนำไปเป็น “เงินทุนการศึกษา” ถวายสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรภายในวัด นำไปเป็น “ทุนการศึกษา สงเคราะห์” ช่วยเหลือเด็กเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดหรือไกลวัด

...เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่าง “บ้านกับวัด” ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งต่อศาสนาและสร้างอนาคตทางการศึกษาให้กับลูกหลานชาวบ้านได้อย่างดียิ่ง

สำหรับปีนี้ “วัดบางไส้ไก่” ไม่มีผู้มาจองกฐิน ไม่มีผู้นำกฐินมาทอดถวายเพราะเป็นวัดเล็กๆ ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปในสังคม ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากเป็นยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง เป็นยุคข้าวยากหมากแพง น้ำมันแพง ประชาชนหรือพุทธศาสนิกชนต่างดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด รวมถึงประชาชนต่างได้รับผลกระทบจาก“อุทกภัยคือภัยจากน้ำท่วม” จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ “วัดบางไส้ไก่ ไม่มีกฐินมาทอดถวาย”

...

ในขณะเดียวกันทางวัดบางไส้ไก่ได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นมา 1 หลัง เพื่อจะให้เป็นที่ใช้พักอาศัยและจำพรรษาของพระภิกษุสามเณรของวัดบางไส้ไก่ทั้งวัดในระยะยาว ใช้เวลาก่อสร้างมาแล้วหลายปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะขาดปัจจัยอยู่อีกมาก จึงมองไม่เห็นแสงสว่างแห่งความหวังที่จะเกิดขึ้นเลย

จึงขอทำใจว่าแล้วแต่บุญแล้วแต่กรรมที่เคยทำมา บุญไม่นำพาวาสนาก็ไม่มี ขออยู่ตามยถากรรมต่อไป เพราะเราไม่มีบุญ...บารมีจึงไม่เกิด วันนี้จึงต้อง “จำยอม” กับความจริงของชีวิต

“อาตมภาพได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่วัยยังเป็นเด็กและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องแล้ว 48 ปี จึงกลายเป็นปีที่มีแต่ความเงียบเหงาอ้างว้างเดียวดายมากที่สุดในชีวิต จึงถือว่า...กฐินนั้นสำคัญจริงๆ”.