รายงานข่าวจากสภา กทม. แจ้งว่า ในการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้เสนอญัตติขอให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทางปฏิบัติที่นายทุนมีช่องว่างหลบเลี่ยง ในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับความเดือดร้อน และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ กทม.จัดเก็บรายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากญัตติทั้งสองมีรายละเอียดเดียวกัน ดังนั้น สภา กทม.จึงมีมติเห็นชอบให้รวมญัตติ และเปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและแนวทางการเสียภาษีของผู้ถือครองที่ดิน และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา จำนวน 21 คน

นายพุทธิพัชร์กล่าวว่า สืบเนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ถูกนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.62 และเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 แต่ตั้งแต่มีการจัดเก็บ พบปัญหาในทางปฏิบัติที่นอกจากจะทำให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังพบความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน สาเหตุหลักเกิดจากการที่นายทุนอสังหาริมทรัพย์ ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย แบ่งซอยที่ดินเป็นเส้น เพื่อให้ที่ดินมีหน้ากว้างที่แคบ ทำให้ราคาประเมินต่ำลง และผ่องถ่ายให้กับบริษัทลูกถือครองรวมทั้งมีการนำเอาพืชล้มลุก เช่น กล้วยหอมและมะนาวมาปลูกเพื่ออ้างว่าเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ทั้งๆที่ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในผังเมืองพาณิชยกรรม ไม่เหมาะต่อการทำเกษตร กรรม ทำให้ กทม.จัดเก็บภาษีที่ดินได้น้อยลง ขณะที่ประชาชนในชุมชนที่เช่าที่ดินจากวัดหรือมูลนิธิต่างๆ โดยวัด หรือมูลนิธิต่างๆ ด้วยความที่เป็นการเช่าที่ดินแปลงใหญ่ และให้ชุมชนจัดสรรกันเอง เมื่อคำนวณภาษีที่ดินต้องชำระสูงมาก ทำให้นายทุนใหญ่เสียภาษีที่ดินถูกลง แต่คนจนกลับต้องถูกรีดภาษีเพิ่มขึ้น

...

ด้านนายสุทธิชัยกล่าวว่า เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดคำนิยามคำว่า “เกษตรกรรม” ไว้ ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือครองที่ดินใช้ช่องทางหลบเลี่ยงภาษี นอกจากนี้มีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับมรดก แต่ไม่มีเงินที่จะจ่ายภาษีทำให้ถูกบังคับขายที่ดินราคาถูกให้กับนายทุน ผู้บริหาร กทม.ควรมีแนวทางในการผ่อนปรนและลดความเดือดร้อนของประชาชน จากการจัดเก็บรายได้ของ กทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะภาษีที่ดินเป็นรายได้หลักของ กทม. อย่างไรก็ตาม ปัญหามีหลายประเด็นที่ต้องเสนอรัฐบาล เพราะ กทม.จัดเก็บตามที่รัฐบาลสั่งให้เก็บ สามารถปรับได้แต่ไม่เกินกรอบที่รัฐบาลกำหนด และพบว่าในหลายพื้นที่มีเกษตรกรตัวจริงมาก ปัญหาคือแยกเกษตรกรตัวจริงและตัวปลอมอย่างไร รวมทั้งภาษีอาคารทำให้ผู้เช่าอยู่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วย มีหลายประเด็นที่ไม่เป็นธรรม หลายจุดต้องทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ต้องขอบคุณสภากรุงเทพมหานครที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นรายได้หลักของ กทม.