ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการจัดสร้าง อาคารรักษาพยาบาลศิริราชและสถานีศิริราช โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอเพื่อบูรณาการการใช้งานหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราชกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่ง มวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ได้อย่างสะดวก และพัฒนาใช้ศักยภาพของพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข ถือเป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย” โดย ครม.ได้อนุมัติกรอบงบประมาณรวม 3,851,274,700 บาท จาก 2 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณแผ่นดิน 2,552,502,100 บาท และเงิน สมทบจากเงินรายได้ 1,298,772,600 บาท มีระยะเวลา การดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2569
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราชเป็นอาคารร่วมใช้ประโยชน์ในการเดินทางและการรักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง และลดความแออัดของผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จและการดูแลรักษาแบบบูรณาการ เป็นอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต่อเนื่องกับคณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี-ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย บนพื้นที่ 4.67 ไร่
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.งานบริการผู้ป่วยนอก ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและบริการตรวจรักษาโรคเฉพาะทาง เน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ 2.งานบริการผู้ป่วยใน มีห้องผ่าตัด 12 ห้อง ห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) 12 เตียง และหอผู้ป่วยใน 78 เตียง 3.งานบริการหน่วยผู้ป่วยนอก/การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 4.งานบริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ 5.งานบริการส่วนของสถานีรถไฟ ซึ่งเชื่อมต่อกับอาคารรักษาพยาบาล คาดว่าจะให้บริการผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้น 955,000 รายต่อปี และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 7,000 รายต่อปี.
...