คำ “เสียงนก เสียงกา” สำหรับผู้คนรุ่นใหม่...สื่อถึงเสียงที่ฟังแค่ผ่านรูหู ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่า...เป็นเสียงที่ไม่แต่จะมีความหมาย ยังเป็นเสียงที่ต้องตั้งใจฟัง ต้องตีความ

อาจารย์ ส.พลายน้อย เขียนไว้ในหนังสือ รู้ร้อยแปด เล่ม 2 (สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ.2544) ว่า ในอินเดียถือกันว่า ถ้า สุนัขจิ้งจอก ลา และนกกา ร้องรับกันเป็นทอดๆจะเกิดเรื่องร้ายในแผ่นดิน

ไม่ใช่ความเชื่อเลื่อนลอยนะครับ มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์อมตะ ระดับมหาภารตยุทธนั่นเทียว

ตำรานิมิตของไทยกล่าวว่า ถ้าโค กา สุนัข และไก่ อย่างใด อย่างหนึ่งร้อง เช่น สุนัขเห่าหรือหอน ไก่กระต๊ากตอนกลางคืน ถือเป็นนิมิตให้รู้ว่า มนุษย์ทั้งหลายจะเกิดเภทภัย

ในสัตว์สี่ชนิดที่คนไทยเชื่อถือ คนไทยเชื่อเสียงกามากกว่า สัตว์อื่น คนรุ่นเก่าเมื่อได้ยินเสียงการ้องผิดธรรมดาก็มักพูดว่า “บอกข่าวดีบอกไป บอกข่าวร้ายบินหนี”

เสียงการ้องบอกเรื่องดีและไม่ดี จึงมีคนแต่งตำราฟังเสียงการ้องไว้หลายสำนวน

เสียงนกที่คนไทยไม่อยากฟัง คือเสียงนกแสก มันร้องเสียงดังฟังเป็น“แซ็กๆ” เชื่อกันว่า ถ้าได้ยินเสียงมันร้องผ่านหลังคาบ้านใด บ้านหลังนั้นมักจะมีคนตาย

เสียงนกแสกจึงเป็นเสียงที่ฟังได้เป็นเรื่องเดียว คือเรื่องอัปมงคล

ยังมีเสียงสัตว์ในบ้านเรือน เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก และหนู ถ้ามันร้องเสียงแปลกๆมีตำราเขียนบอก ถ้าได้ยินเสียงจิ้งจกร้องทัก ให้เคาะพื้นตอบ

ถ้าตุ๊กแกร้องต่ำกว่าหกครั้ง ถือว่าเป็นลางไม่ดี ถ้าร้องมากกว่าหกครั้งขึ้นไปทายว่าจะมีข่าวดี

คนในบ้านจะได้ลาภ จะได้เลื่อนยศศักดิ์ แต่เสียงร้องนั้นต้องชัดเจนแจ่มใส ถ้าร้องเสียงแหบท่านว่าไม่มีผล

...

ส.พลายน้อยบอกว่า อยากรู้ว่าเสียงจิ้งจก กา ตุ๊กแก หรือหนู ร้องดีร้ายอย่างไร ท่านเขียนไว้ละเอียดลออในหนังสือสัตว์นิยาย และหนังสือสิบสองนักษัตร ใครมีไว้ใกล้มืออยากรู้ก็ควรเปิดอ่าน

ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าแมลงในบ้านเรือนมากขึ้นๆ สัตว์พวกนี้จึงหายไป ฉะนั้น แม้ใครอยากฟังเสียงมันร้องยังไง ก็คงไม่มีโอกาสฟังแล้ว

เรื่องราวของสัตว์เล็กๆร้องมีเรื่องเขียนกันไว้มาก แต่เรื่องราวของสัตว์ใหญ่ไม่ค่อยเขียนถึงกันบ่อยนัก

มีเรื่องที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานเมื่อคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2475 พระเศวตคชเดชน์ดิลก ช้างพลายสำคัญในรัชกาล ที่ 7 ไม่ยอมหลับยอมนอนร้องครวญครางอยู่ทั้งคืน

ควาญช้างประจำตัวที่เลี้ยงมาตั้งแต่เกิด ดูอาการก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

จนรุ่งเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ก็เกิดการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสถานที่ใกล้ๆโรงช้างนั้นเอง

อาจารย์ ส.พลายน้อยท่านจบเรื่องเสียงสัตว์ร้องบอกดีร้าย ไว้ตรงนี้แหละครับ

ปล่อยให้เราคิดต่อกันเอง ช้างพลายสำคัญเชือกนั้นสำแดงปฏิกิริยาเพราะมีสัญชาตญาณพิเศษรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

วันนี้เป็นวันที่ 30 ก.ย. พ.ศ.2565 ครับ มีคนทั้งบ้านทั้งเมือง ผุดลุกผุดนั่ง ตั้งตาลุ้นกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เอาเป็นว่าไม่ว่าจะหลับรอลุ้น หรือตื่นรอลุ้น ก็เงี่ยหูฟังเสียงดังๆจากสัตว์ใกล้ตัวกันไว้บ้าง...บางเรื่องคนเราไม่มีญาณหยั่งรู้ แต่โบราณท่านก็บอกไว้ว่า สุนัข กา ไก่ นก หรือหนู มันอาจรู้.

กิเลน ประลองเชิง