สถานการณ์น้ำปลายปีนี้ยังต้องเฝ้าจับตา “ลานีญา” หวนกลับมาดีดตัวยกกำลังแรงพีกสุดในเดือน ก.ย.–ต.ค.2565 ที่ตรงช่วงฤดูฝนใหญ่มีพายุก่อตัวเคลื่อนเข้าประเทศไทย กลายเป็นปัจจัยหนุนให้ฝนตกมากซ้ำเติมน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนและพืชผลทางการเกษตรหลายพื้นที่ยืดเยื้อยาวไปถึงต้นปีหน้า

โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพฯ ต้องเฝ้าระวังน้ำมากตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค. แล้วฤดูหนาวจะเย็นยะเยือกมากกว่าปกติเกือบทุกภาคถึงอย่างน้อยเดือน ก.พ.2566

ปัจจัยทำให้ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกตินี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร บอกว่า นับจากวันที่ 16 ก.ย.2565 ฝนจะมีแนวโน้มมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภูมิภาค เพราะลานีญาดีดกำลังแรงเฉียดร้อยเปอร์เซ็นต์

แล้วในเดือน ก.ย.-ต.ค.ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากเป็นพิเศษ คาดว่าปริมาณฝนน่าจะลากยาวไปอีกอย่างน้อยเดือน พ.ย.ด้วยซ้ำ ส่วนพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มฝนตกหนักตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.เช่นกัน

...

ตอกย้ำว่า “ปีนี้ฝนตกหนักน้ำท่วมมาก” มีสาเหตุชัดๆคือ “ลานีญาเกิดติดต่อเข้าสู่ปีที่ 3” ด้วยตามหลักแล้วมักเกิดขึ้นได้ไม่เกิน 2 ปีก็หมดไป “ดูจากสถิติย้อนหลังราว 100 ปี กรณีลักษณะนี้เป็นไปได้ยาก” เท่าที่ทราบ ครั้งนี้เป็นครั้ง 3 หรือเฉลี่ยในรอบ 30 ปี อันเป็นปัจจัยหนุนให้ปริมาณฝนปกติ ยกตัวตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติยิ่งขึ้น

แน่นอนสิ่งนี้ล้วนมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” ที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศห่อหุ้มเปลือกโลก “ดูดซับกักเก็บความร้อน” สะสมหนาเกินความเหมาะจนอากาศร้อนขึ้น “ก่อให้โลกแปรปรวน” ค่าอุณหภูมิกลางวัน-กลางคืนเหวี่ยงรุนแรง หรือปริมาณฝนมาน้อยแต่ตกหนัก

ประเด็นเรื่องนี้ทำให้ “เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯซ้ำซาก” มีปัจจัยอยู่ 3 สาเหตุคือ ปัจจัยแรกคือ...“ภัยธรรมชาติ” ด้วยลานีญาเกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ปริมาณน้ำสะสมมาก ปัจจัยที่สอง... “การบริหารจัดการรับมือน้ำ” เรื่องนี้อาจต้องถาม กทม.ขุดลอกคูคลองป้องกันปัญหาน้ำท่วมกันบ้างหรือไม่

ปัจจัยที่สาม...“ขาดการบูรณาการใช้ที่ดินกับเรื่องน้ำ” เพราะปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำเกิดขึ้นใหม่มากมาย “ทั้งตึกรามบ้านช่อง และถนน” ยิ่งกว่านั้นพื้นที่แก้มลิงใช้รองรับน้ำก็ลดน้อยหายลงไปเรื่อยๆ เพราะถูกนำไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์กันเกือบหมด สุดท้ายก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะรับน้ำ

ดังนั้น แม้ฝนตกในปริมาณเท่าเดิมแต่แหล่งรองรับน้ำกลับลดน้อยลง “น้ำย่อมท่วมเป็นธรรมชาติ” เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า “การทำผังเมืองกทม.ขาดการบูรณาการการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับน้ำ” อย่างเช่น เดิมวางระบบท่อระบายน้ำขนาดเล็ก 40-60 ซม. เมื่อเขตเมืองเติบโตขึ้นก็มิได้ลงทุน ขยายท่อกว้างขึ้นด้วยซ้ำ

กลายเป็นว่า “ท่อรับน้ำมากกว่าเดิม” ทั้งน้ำถูกปล่อยจากอาคารบ้านเรือน แล้วต้องเจอกับฝนที่ตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ สิ่งนี้เป็นปัจจัยเพิ่มให้ระบบท่อระบายน้ำได้ไม่ทัน ทำให้เกิดน้ำท่วมดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เรื่องนี้ในอนาคต “ต้องสร้างกฎเกณฑ์ใหม่” ถ้าหากมีกรณีสิ่งปลูกสร้างใดขวางทางน้ำ อาจต้องกำหนดระเบียบให้มีระบบระบายน้ำควบคู่ไปด้วย ส่วนระบบของเดิมที่เป็นปัญหาอยู่นั้น “ต้องลงทุนแก้ไข” ด้วยการประเมินจัดการพื้นที่วิกฤติก่อน แล้ว “ปรับปรุงระบบท่อน้ำจุดนั้น” เพื่อให้มีประสิทธิภาพรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น

ถัดมาคือ “กรุงเทพฯต้องมีพื้นที่แก้มลิง” ไม่ใช่มุ่งสร้างเมืองเป็นหลักไปจนทั้งหมด ฉะนั้น อาจต้องมี “บางพื้นที่ต้องเสียสละ” ให้เป็นที่ดินสาธารณะรองรับน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจได้ดีขึ้น

ต่อมากระแส “ย้ายกรุงเทพฯหนีน้ำ” ความเห็นส่วนตัว “ถ้าแก้จุดบกพร่องที่มีอยู่” เรายังคงไม่ต้องเดินไปถึงแนวคิดนั้น “โดยเฉพาะเรื่องขุดเจาะใช้น้ำบาดาล” ที่มักก่อปัญหาการทรุดตัวของดินค่อนข้างมาก ทั้งบวกกับ “น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ” จากปัจจัยของสภาวะโลกร้อนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย

...

กลายเป็นห่วงโซ่กระทบถึง “กรุงเทพฯและปริมณฑล” จนหลายจุดเจอน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งกัดกินทีละเล็กทีละน้อย “เรื่องนี้อนาคตถ้าไม่แก้ปัญหาด้านใดด้านหนึ่งให้เป็นรูปธรรม” ไม่ว่าจะแก้ปัญหาใช้น้ำบาดาลให้น้อยลง หรือการบูรณาการใช้ประโยชน์ในที่ดินสอดรับทางน้ำ สุดท้ายอาจต้องย้ายเมืองหนีน้ำจริงๆก็เป็นไปได้

ย้อนกลับมา “เรื่องน้ำฝนในปี 2566” คาดการณ์ว่าเดือน ม.ค.-มี.ค.ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ฝนมีแนวโน้มลดลงกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ส่วน “ภาคใต้” จะมีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยเฉพาะเดือน พ.ย.2565 อันเป็นช่วงฤดูฝนใหญ่ “ภาคใต้ตอนล่าง” ควรต้องเฝ้าระวังน้ำมากเป็นพิเศษ

เหตุนี้ส่งสัญญาณว่า “ปีนี้ภาคใต้” จะเกิดน้ำท่วมใหญ่หนักกว่าปีที่แล้ว เพราะปี 2564 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติราว 5% แต่ว่าปี 2565 น้ำฝนมามากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10–20% ด้วยซ้ำ

...

อย่างไรก็ดีเราต้องลุ้นกันต่อตั้งแต่เดือน ก.ย.-พ.ย.2565 ที่เป็นช่วงการก่อตัวพายุเคลื่อนตัวเข้าใกล้ หรือผ่านประเทศไทยเสมอ แต่ก็พอมีเรื่องดีหากดูจาก “ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา” คาดการณ์ว่าแนวโน้มพายุเคลื่อนเข้ามาในทะเลจีนใต้น่าจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

แต่บอกก่อนว่า “ปริมาณน้ำฝนมาก” มิได้มีตัวชี้วัดเพียงแค่ “พายุ” แล้วทำให้เกิดน้ำท่วมเท่านั้น เพราะบางครั้งมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ปกคลุมไทยปะทะกับมวลอากาศร้อนก็เกิดฝนตกหนักได้เช่นกัน

สัญญาณข่าวดี “ปี 2566 ทุกภูมิภาคอาจเจอภัยแล้งน้อยลง” ด้วยลานีญาแผลงฤทธิ์หนักตลอด 3 เดือนส่งท้ายปี “ดินเกิดความชุ่มชื้น และเขื่อนมีน้ำพอสมควร” ทำให้ไม่น่ามีภัยแล้งหนักในช่วง ก.พ.-เม.ย.นี้

ถัดมาคือ “ฤดูหนาว” น่าจะได้เริ่มสัมผัสอากาศเย็นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และจะหนาวกว่าปีที่ผ่านมาเกือบทุกภูมิภาคตั้งแต่เดือน พ.ย.2565-ก.พ.2566 “พีกสุดคือช่วงเดือน ธ.ค–ม.ค.” ดังนั้น ต้องเตรียมเสื้อกันหนาวให้พร้อมเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายของตัวเอง

...

ทว่า “ปีนี้ภาคเหนือจะหนาวเย็นน้อยลง” เพราะฝนลดลงเร็วกว่าภูมิภาคอื่นมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2565 ทำให้อุณหภูมิกลับมาสูงเร็วขึ้น แต่ก็มิใช่ว่า “จะไม่หนาวเพียงแต่จะเย็นน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ” เช่น บางแห่งในปี 2564 เคยมีอุณหภูมิอยู่ที่ 1-2 องศาฯ ในปี 2565 อาจจะสูงขึ้นอยู่ที่ 3-4 องศาฯก็ได้

ข้อเสียลักษณะความผิดปกตินี้ “พืชผลการเกษตรระวังความเสียหาย” โดยเฉพาะข้าวที่ต้องเจออากาศหนาวเย็นนาน “มักตามมาด้วยโรค หรือข้าวออกรวงไม่สุด” ทำให้ผลผลิตไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ประเด็น “ฝุ่นละออง PM 2.5” หากนับดูจากนี้ “พื้นที่กรุงเทพฯ” มีแนวโน้มเผชิญปัญหาฝุ่นหนักกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.-ม.ค.ท้องฟ้ามีโอกาสถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจางๆ เพราะไม่มีฝนเข้าช่วยเหมือนเดิม

แม้แต่ในมิติ “ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน” ถ้ากรณีการเผาใบอ้อย ตอซัง และฟางข้าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องฝุ่น จะกลับมาเป็นปัญหาสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อีกทั้ง “รถบรรทุกปล่อยควันดำ” ก็ยังไม่มีมาตรการอื่นเข้ามาแก้ไขให้ชัดเจน นอกจาก “ตรวจจับควันดำ” ดังนั้น ในอนาคตเราคาดหวังว่า “มาตรฐานไอเสียรถยนต์ EURO” ที่เคยมีแผนประกาศไว้ในปี 2567 ตั้งเป้าขยับจาก EURO4 เปลี่ยนเป็น EURO5 กล่าวคือรถยนต์ออกใหม่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน EURO5 เพื่อลดมลพิษฝุ่นนั้น

พูดง่ายๆ “แหล่งกำเนิดฝุ่นยังมีปริมาณเท่าเดิม” ยกเว้นโรงงานขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นควันก่อนปล่อยสู่ชั้นอากาศ ปัญหาคือ “โรงงานขนาดใหญ่มีน้อยกว่าโรงงานขนาดกลาง–ขนาดเล็ก” ที่กฎหมายควบคุมไม่ทั่วถึงด้วยซ้ำ ในเรื่องนี้ต้องเพิ่มความพยายามอีกมากจึงจะลดปัญหาฝุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่าลืมว่า “ภัยทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องโชคชะตา” คาดกันว่าเดือน ม.ค.2566 “ลานีญา” จะอ่อนกำลังเข้าสู่เฟสกลาง “สภาพอากาศจะเข้าสู่สภาวะปกติ” แต่ไม่ควรประมาทต้องติดตามใกล้ชิดกันต่อไป.