นายกฯ สั่ง 4 หน่วยงาน ก.พาณิชย์ สธ. คลัง และกรมสรรพสามิต พิจารณาทบทวนประเด็นการห้ามนำเข้าและจำหน่าย การแบนบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน ย้ำต้องฟังเสียงประชาชน ให้รอบด้านและเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 65 นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ "ECST" และแอดมินเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" เผยภายหลังได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ส.ค. 65 ว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคนที่อาจต้องเสียชีวิตถึงปีละกว่า 7 หมื่นคนเพราะควันจากการเผาไหม้ของการสูบบุหรี่ และไม่ทอดทิ้งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า 5 แสนคนในปัจจุบัน
"จดหมายสั่งการจากนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับฟังเสียงของประชาชนอย่างรอบด้านของท่านนายกฯ มากกว่ารับฟังข้อมูลจากนักวิชาการและแพทย์บางกลุ่มฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมา การแบนบุหรี่ไฟฟ้าเกิดจากการผลักดันของเอ็นจีโอและแพทย์ที่รับทุน จาก สสส. โดยไม่ได้มีการทบทวนผลกระทบและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่ประเทศไทยมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว 8 ปี แต่คนใช้เพิ่มมากขึ้นกว่า 600% แถมรัฐบาลยังไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนได้จริง ไม่สามารถเก็บภาษีและควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้ประชาชนได้ ในขณะที่การลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ก็มากขึ้นและยังทำให้เกิดปัญหาการจับกุมรีดไถและการคอร์รัปชัน แสดงถึงความล้มเหลวของมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า"
นายมาริษ กล่าวด้วยว่า รายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลและได้สั่งการเรื่องดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้มีกลุ่มแพทย์นำเสนอข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวต่อท่านนายกฯ เพื่อให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ส่งเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาและรายงานผลกราบเรียนนายกรัฐมนตรี 2.มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนกลุ่ม ECST เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน
...
"ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าถูกจัดให้เป็นสินค้าถูกกฎหมายและมีมาตรการควบคุมในกว่า 70-80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวทางสมดุลที่หลายประเทศได้นำมาใช้ ไม่ใช่แค่ประเทศอังกฤษ แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ด้วย โดยพิจารณาถึงประโยชน์ในการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ลดอันตรายหรือลดการสูบบุหรี่ได้ ในขณะที่สามารถป้องกันควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้ด้วย เครือข่ายฯ ได้พยายามนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะเครือข่ายเอ็นจีโอและแพทย์บางกลุ่มต้องการผลักดันให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ โดยปิดกั้นความเห็นที่แตกต่าง ใครที่เห็นต่างก็จะโดนดิสเครดิตอย่างไม่เป็นธรรม" นายอาสา ศาลิคุปต อีกหนึ่งตัวแทน ECST เสริม
ตัวแทน ECST กล่าวต่อว่า เราเชื่อว่าการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบ กำกับดูแลผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปล่อยไว้ใต้ดินอย่างในปัจจุบัน และยังช่วยเพิ่มรายได้ภาษี เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยที่ถูกต้อง และยังช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับแนวทางในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรปอีกด้วย เราหวังว่าข้อสั่งการของท่านนายกฯ ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบด้านและเป็นธรรม เพื่อให้มีการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า และใช้กฎหมายที่มีพร้อมอยู่แล้วมาควบคุมแทนการแบนอย่างในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องกัญชา และกระท่อมต่อไป.