ปีนี้ “น้ำ” จะ “ท่วม” กรุงเทพฯ หรือไม่? อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ช่วงกลางเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมของทุกปี จากสถิติมีพายุพัดผ่านประเทศไทยทั้งขนาดใหญ่และเล็กมากที่สุด

โดยเคลื่อนผ่านจากแหลมญวนตอนใต้ผ่านกัมพูชาและประเทศไทยทางด้านตะวันออกมีโอกาสทำให้ฝนตกตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ถึงภาคใต้ ทำให้จะมีฝนตกใต้เขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมยังเป็นช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง

การที่ฝนตกมาก....จะมี “มวลน้ำ” ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไหลผ่านมายัง...สิงห์บุรี...อ่างทอง และ...อยุธยามากขึ้น

เมื่อน้ำเหนือไหลลงมาจากเขื่อนเจ้าพระยามาที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ผ่านเข้าไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบกับฝนตกหนักจะทำให้เกิดน้ำท่วมเต็มทุ่ง หรือแก้มลิงต่างๆ เช่น บางบาล บางไทร บางปะหัน เสนา ผักไห่ เป็นต้น...อีกทั้ง “แม่น้ำเจ้าพระยา” จะมาบรรจบกับ “แม่น้ำป่าสัก” ที่ไหลมาจากลพบุรี

...

บริเวณหน้าวัดพนัญเชิงและรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทรโดยมีสถานีวัดน้ำ C.29 A หากการระบายออกอยู่ระดับที่ 3,000-3,500 ลบม.ต่อวินาที จะเริ่มมีความเสี่ยงสูงมากที่ทำให้น้ำท่วม กรุงเทพฯได้ แล้ว...“แม่น้ำเจ้าพระยา” ก็จะมีเส้นทางไหลลงสู่อ่าวไทย 3 เส้นทางด้วยกันคือ

หนึ่ง...น้ำเหนือไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะระบายผ่านจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และออกทะเลโดยตรงที่ปากน้ำและพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ สอง...น้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่ทางตะวันออกของ กทม.โดยผันน้ำออกสู่คลองรังสิต โดยจะมีมวลน้ำที่ระบายจากคลองระพีพัฒน์

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

ซึ่งจะผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักมารวมกับคลองรังสิตเป็นคลอง 13 ผ่านประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์เข้าสู่คลอง 14...15...16 จะไประบายผ่านคลองหกวา สายล่างและระบายต่อผ่านคลอง 14...15...16...17 ไปลงคลองบางขนาก หรือคลองแสนแสบ ผ่านเขตหนองจอก ผ่านเขตมีนบุรี ผ่านเขตลาดกระบัง

และไหลไปเข้าคลองนครเนื่องเขต และคลองพระองค์ไชยานุชิตเพื่อสูบออกแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยตามลำดับ และเส้นทางสุดท้าย เส้นที่สาม...ผันน้ำมายังฝั่งตะวันตกของ กทม.โดยจะระบายน้ำผ่านคลองทวีวัฒนาไปตัดคลองภาษีเจริญเข้าสู่แก้มลิงสนามชัยที่คลองราชมนตรีออกสู่แม่น้ำท่าจีนที่สมุทรสาครออกอ่าวไทย

โดยมี “คลองมหาสวัสดิ์” กับ “คลองบางกอกน้อย” เชื่อมกับ “คลองภาษีเจริญ”

ปัญหาสำคัญมีว่า...หากสถานีวัดน้ำ C.13 จังหวัดชัยนาทปล่อยน้ำเหนือจากเขื่อนเจ้าพระยาลงมาถึง 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และสถานีวัดน้ำบางไทร C.29 A ปล่อยการระบายน้ำในช่วง 3,000-3,500 ลบ.ม. ต่อวินาที ประกอบกับมีฝนตกหนักในเขต กทม.เสริมอีก เส้นทางระบายน้ำ ทั้ง 3 แนวจะรับไม่ไหว

...

จะ...ทำให้เกิดน้ำท่วม กทม.เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในการผันน้ำลง “คลอง” และ “แก้มลิง” ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างคับแคบ มีประชาชนปลูกบ้านเรือนใช้พื้นที่แก้มลิงเดิมอยู่อาศัยจำนวนมาก ทั้งยังขึ้นกับจำนวนพายุที่พัดผ่านทำให้ฝนตกใต้เขื่อนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการเกิดพายุสามารถคาดการณ์ได้เพียง 3 วันเท่านั้น

อาจารย์สนธิ ฝากย้ำเตือนด้วยว่า หากพื้นที่ไหนน้ำท่วมหนัก สิ่งที่พึงกังวลต่อเนื่องก็คือขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของบ้านเราจะมีวิธีบริหารจัดการหรือทำอย่างไรได้บ้าง?

ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมหนักได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ดังเช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำท่วมหนัก ใน 5 อำเภอ เช่น อ.เสนา, อ.ผักไห่, อ.บางบาล, อ.บางไทร, อ.บางปะหัน น้ำท่วมบ้านมา 3 สัปดาห์แล้ว...หลายแห่งต้องอยู่แต่ชั้น 2 จะมีหน่วยงานไหนมาช่วยเหลือบ้าง?

ผลกระทบคือ...ประชาชนต้องอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเครื่องยังชีพต่างๆ

...

อีกปัญหาสำคัญก็คือเรื่องการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะหลายแห่งต้องใส่ถุงและทิ้ง (ทิ้งที่ไหน?) และการทิ้งขยะมูลฝอยเช่นกัน (ทิ้งอย่างไร?) แล้วจะใช้น้ำที่ไหน? มาล้างภาชนะอาหาร

จานชามหรืออุปกรณ์ประกอบอาหารหากนำน้ำที่ท่วมมาใช้อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

ประการสุดท้าย...น้ำลดเจอโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หากไปเดินบริเวณน้ำท่วมขังจัดการอย่างไร? ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง วางแผนบริหารจัดการกันให้ถ้วนถี่

สะท้อนต่อเนื่องไปถึงภาพใหญ่ปัญหา “โลกร้อน” ทำให้เกิดลมมรสุม ที่รุนแรง หรือ Monster Monsoon อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศปากีสถาน

...

“ประเทศปากีสถานเป็นกรณีศึกษาของการเกิดภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว เนื่องจากโลกร้อนขึ้นจนกลายเป็นโลกรวน” อาจารย์สนธิ ว่า

เมื่อเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาประเทศปากีสถาน เพิ่งถูกคลื่นความร้อนหรือ Heat wave พัดผ่านโดยมีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 49 องศา เป็นระยะเวลา 2 เดือน แต่ปลายเดือนสิงหาคมกลับมีฝนตกหนัก มากสุดในรอบ 30 ปี (Extreme rainfall)

ทำให้พื้นที่ของประเทศ 1 ใน 3 ถูกน้ำท่วมหนัก...โดยมีน้ำท่วมจากทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดินถึง 100 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถึง 33 ล้านคนหรือ 1 ใน 7 ของประชากรในประเทศ

ประเด็นถัดมาประเทศปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 1% จากที่ปล่อยทั้งโลกเท่านั้น แต่กลับเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในปีนี้สภาวะ Climate change หรือโลกที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดลมมรสุมที่รุนแรงหรือ Monster Monsoon คือลมมรสุมที่หอบเอาความชื้นปริมาณมากจากมหาสมุทรขึ้นฝั่งทำให้เกิดฝนตกหนักมากติดต่อกัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์...ขณะที่แผ่นน้ำแข็งทางเหนือของประเทศปากีสถานกำลังละลายลงมา

...เพิ่มปริมาณน้ำมหาศาลในแม่น้ำทำให้น้ำท่วมหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ขณะที่ประเทศยุโรปและตอนกลางและทางเหนือของจีนกำลังเกิดความแห้งแล้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

น้ำท่วม คลองบางบัว
น้ำท่วม คลองบางบัว

น่าสนใจว่า “โลกที่ร้อนขึ้น” ทำให้เกิด “พายุหมุน” ในฤดูฝนใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลกมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทำให้มีฝนตกมากผิดปกติจนน้ำท่วม ส่วนประเทศเขตอบอุ่นในช่วงฤดูร้อนกลับเจอสภาวะ Heat wave มากและรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งหนักและทำให้หิมะบนเทือกเขาละลายลงมามากขึ้น

ย้อนกลับมามอง “ประเทศไทย” มีฝนตกมากในภาคเหนือและอีสานตอนบนตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม หากในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมมีพายุพัดผ่านประเทศไทยมากขึ้น บวกกับภาวะลานีญา จึงคาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและ ภาคอีสานตอนล่างมากขึ้น

ซึ่ง...อาจทำให้ “น้ำท่วมหนัก” ได้

ภัยธรรมชาติคาดเดาไม่ได้ หากแต่การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจากน้ำมือมนุษย์เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันได้ ดูเหมือนว่าถ้า “โลก” ไม่ร้อนขึ้นทุกๆวี่วัน ธรรมชาติก็จะไม่ปรวนแปรสู้กลับ.