นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา กทม.กล่าวกรณีเกิดเหตุพื้นบริเวณชั้นที่ 1 ของอาคาร สน.หัวหมาก และสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมากทรุดตัวว่า จากการตรวจสอบพบอาคารที่เกิดเหตุเป็นอาคาร ค.ส.ล. 3 ชั้น ก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจุดที่เกิดเหตุพื้นทรุดเป็นพื้นชั้นล่างอยู่ด้านหลังอาคาร มีการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นห้องจราจรและได้เปิดใช้งานเมื่อปี 2564 โดยพื้นที่ที่เกิดการทรุดตัวไม่มีคานรองรับ เป็นการก่อสร้างเเบบ Slab on ground เทพื้นซ้อนกัน 2 ชั้น ทั้งพื้นเก่าและพื้นใหม่ จึงเป็นสาเหตุให้พื้นเสื่อมสภาพไม่สามารถรับน้ำหนักได้และทรุดตัวลงมา ส่วนตัวโครงสร้างของอาคารหลักยังอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง และได้ประสานสำนักงานเขตบางกะปิให้แจ้ง สน.หัวหมาก ห้ามใช้และห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นพื้นที่อันตราย
นายนพ ชูสอน ผอ.เขตบางกะปิ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือประสาน สน.หัวหมาก ห้ามใช้และห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นพื้นที่อันตรายและให้เร่งตรวจสอบความมั่นคงอาคารโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงประสานสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมากให้ระมัดระวังการใช้งานบริเวณพื้นชั้นที่ 1 ของอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยหัวหมากเนื่องจากเป็นอาคารเดียวกันและมีโครงสร้างอาคารติดต่อกัน
ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า พื้นที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากเขตก่อสร้างสถานี กกท. (OR18) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ประมาณ 25 เมตร จากการสำรวจพบว่าในส่วนอื่นๆของอาคารดังกล่าวห่างจากพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 17 เมตร ไม่มีความเสียหาย ทั้งนี้ ในระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) รฟม. ได้มีการตรวจวัดการทรุดตัวของอาคารโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสภาพโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างสถานี กกท. (OR18) ในช่วงปี 2561-2563 ที่มีการก่อสร้างโดยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน (งานก่อสร้างผนัง D-wall บริเวณทางขึ้น-ลง ที่อยู่ใกล้ สน.หัวหมาก ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ 10 มกราคม 2563) ไม่พบการเคลื่อนตัวที่ผิดปกติแต่อย่างใด
...
ปัจจุบัน การก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าวกำลังดำเนินงานภายใน ได้แก่ งานสถาปัตยกรรมและงานระบบไฟฟ้าเครื่องกล ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ค่าตรวจวัดการทรุดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ยังไม่พบความผิดปกติ ดังนั้น การทรุดตัวของพื้นในอาคาร สน.หัวหมาก จึงไม่ได้เกิดจากสาเหตุการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) แต่อย่างใด.