ช่วงนี้ประเทศไทยตกอยู่ใต้อิทธิพล “ลานีญา” ทำให้มีฝนตกมาก เกิดนํ้าหลากนํ้าท่วมไปทุกภาค รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร ที่นํ้าท่วมทุกครั้งเมื่อฝนตก เป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม.ทุกยุคที่ผ่านมา หลังประชุม ครม.วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเซอร์ไพรส์แถลงถึง อุทกภัย และนํ้าท่วม กทม. ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า “เราห้ามฝนห้ามธรรมชาติไม่ได้ ห้ามฝนตกมากตกน้อยไม่ได้ เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ส่วนจะอยู่ได้อย่างไร ต้องมีการปรับตัวและเตรียมตัว เพราะหลายพื้นที่เคยตกน้อย แต่วันนี้ตกมาก เกินขีดความสามารถที่การระบายนํ้าทางธรรมชาติจะระบายได้ ทำให้ระบายไม่ทันเกิดนํ้าเอ่อท่วม ซึ่งคนส่วนใหญ่บ้านอยู่ริมตลิ่ง เมื่อตลิ่งพังบ้านก็พังไปด้วย”
เป็น นายกรัฐมนตรี มาพูดแบบนี้ เหมือนคนสิ้นหวังไม่มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหา ก็คงบอกได้คำเดียวว่า 24 สิงหาคมนี้ กลับบ้านไปเถอะลุง
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาของท่านผู้นำ คงไม่สามารถแก้ปัญหานํ้าท่วม กทม.และปัญหานํ้าท่วมซ้ำซากในแต่ละจังหวัดได้แล้ว ได้แต่บอกให้ประชาชนรับสภาพและปรับตัวให้อยู่กับนํ้าท่วมให้ได้ ยอมแพ้ปัญหาแบบนี้โดยไม่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประชาชน ก็ไม่รู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปทำไม
วันนี้ผมจะนำตัวอย่าง การแก้ปัญหานํ้าท่วมเมืองหลวงด้วยสติปัญญามนุษย์ มาเล่าให้ฟังเป็นการเปิดหูเปิดตาท่านผู้นำ เป็นวิธีแก้ปัญหานํ้าท่วมกรุงโตเกียว เมืองหลวงญี่ปุ่น มหานครที่มีประชากรกว่า 35 ล้านคน กทม. มีประชากร 5 ล้านกว่าคน เล็กกว่าโตเกียวถึง 7 เท่า
กรุงโตเกียว มีความเสี่ยงนํ้าท่วมเช่นเดียวกับ กทม. พื้นที่กรุงโตเกียวอยู่ตํ่ากว่าระดับนํ้าทะเลหลายร้อยตารางกิโลเมตร และ ยังเป็นจุดรับนํ้าจากแม่นํ้าถึง 8 สาย ในขณะที่กรุงเทพฯมีแม่นํ้าเจ้าพระยาเพียงสายเดียว แต่ญี่ปุ่นใช้สติปัญญาแก้ปัญหานํ้าท่วมกรุงโตเกียวจนสำเร็จ ปี 2562 กรุงโตเกียว เผชิญกับ มหาพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ที่รุนแรงที่สุด ก็ยังสามารถรับมือกับปริมาณนํ้าอันมหาศาลได้อย่างสบาย
...
กรุงโตเกียวสามารถแก้ปัญหานํ้าท่วมได้ เพราะ ผู้นำและผู้ว่าฯ กรุงโตเกียวไม่ยอมแพ้ธรรมชาติ ไม่บอกให้ประชาชนยอมรับชะตากรรมอย่างสิ้นหวัง โดยไม่มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา
ญี่ปุ่นแก้ปัญหานํ้าท่วมกรุงโตเกียวด้วยการก่อสร้าง โครงการป้องกันนํ้าท่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อว่า Metropolitan Area Outer Under ground Discharge Channel เรียกย่อๆว่า G–Cans หรือ G–Cans Underground Temple เป็นทางนํ้าไหลใต้ดินในช่วงเกิดพายุไต้ฝุ่นและช่วงฝนตกหนัก ป้องกันกรุงโตเกียวจากกระแสนํ้าตอนเหนือ และป้องกันนํ้าล้นตลิ่งจากแม่นํ้า 8 สาย
โครงการ G–Cans ใช้เวลาก่อสร้างถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 2535–2552 มีสิ่งก่อสร้าง 6 จุดหลักคือ ไซโลคอนกรีตรับนํ้า 5 จุด มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร สูง 65 เมตร จุนํ้าได้ประมาณ 209 ตัน สามารถรับนํ้าได้ทั้งสิ้น 1,045 ตัน หรือกว่า 1.045 ล้านลิตร จุดสำคัญที่สุดอีกจดคือ ถังนํ้าใต้ดินขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า The Temple หรือวิหาร ในเวลาที่ไม่ใช้รับนํ้าก็เปิดให้ชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวเข้าชม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว ถังนํ้าขนาดใหญ่นี้มี 56 เสา สูง 20 เมตร แต่อยู่เตี้ยกว่าไซโลอีก 5 แห่ง 25.4 เมตร เพื่อรับนํ้าจากไซโลทั้ง 5 จุด รับนํ้าได้ราว 5 แสนลิตรมากกว่าไซโล 2 เท่า มีอุโมงค์เชื่อมโยงกับไซโล 6.5 กม. เมื่อรับนํ้าที่ไหลมาจากไซโลแล้วก็สูบนํ้าลงแม่นํ้าไปอีกทอด
ถังนํ้ายักษ์ Temple อยู่ที่เมืองคาซูกาเบะ ห่างจากใจกลางกรุงโตเกียวไป 20 กม. วันปกติจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมศึกษาหาความรู้ มีห้องปฏิบัติการควบคุมนํ้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็มีปัญหานํ้าท่วมจากนํ้าทะเลหนุน อังกฤษจึงสร้าง Thames Barrier กั้นแม่นํ้าเทมส์ เปิดใช้งาน ปี 1983 สามารถป้องกันนํ้าท่วมกรุงลอนดอนได้จนถึงทุกวันนี้ ขอเพียงผู้นำมีความมุ่งมั่น ทุกปัญหาก็สามารถแก้ไขป้องกันได้ ไม่ใช่สิ้นปัญญา แล้วบอกให้ประชาชนรับชะตากรรม อย่างนี้ไม่ใช่ผู้นำครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”