มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ มีมติเอกฉันท์ยก "วิปร วิประกษิต" อ.สาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ม.มหิดล ผู้คิดค้นและพัฒนาแนวทางในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2565 รับพระราชทานรางวัลจาก กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 65 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัวผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 40 ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและมอบโล่ให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และผู้ที่ได้รับรางวัลเข้าร่วมงานแถลงข่าว
 
ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ ถือเป็น เครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาประเทศ และหากมองสถานะของประเทศไทยในเวทีโลก จะช่วยให้เราทราบว่ามีสิ่งใดที่เราควรทำเพื่อขยับสถานะของประเทศให้สูงขึ้น โดย IMD World Competitiveness Center ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ใน 63 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ขยับลงมา 5 อันดับจากปี 2564 ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่อันดับที่ 38 เท่าเดิม และการศึกษาอยู่อันดับที่ 53 ดีขึ้น 3 อันดับ เมื่อมองไปที่วิทยาศาสตร์แล้วพิจารณาเฉพาะงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality & High Impact) นอกนี้ จากการจัดอันดับของ Nature Index ยังพบว่าขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จาก 115 ประเทศที่มีผลงานวิจัยกลุ่มดีเด่นและเป็นอันดับที่ 9 ในเขต Asia Pacific จำนวน 28 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่มสมาชิก ASEAN 10 ประเทศนั้นพบว่า อันดับที่ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย

...


 
สำหรับงานวิจัยนั้น เราต้องมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันในด้านต่างๆ อาทิ Energy and Environment, Biotechnologies, Advanced Functional Materials, และ Advanced Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เราจำเป็นต้องสร้างนักวิจัยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นหัวรถจักรชั้นดีในการขับเคลื่อนประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทุนทางนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เคลื่อนเข้าสู่เวทีโลกอย่างสง่างาม ยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริม
 
และสร้างองค์ประกอบด้านต่างๆ ให้พร้อมเพรียง ได้แก่ 1.ส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ 2.เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3.สนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยขั้นแนวหน้า และ 4.สนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันกับการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง
 
สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล "ผู้คิดค้นและพัฒนาแนวทางในการวินิจฉัยโรคทางโลหิตวิทยาด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์" คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2565 รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท


 
ศ.ดร.นพ.วิปร เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเฉพาะโรคเม็ดเลือดแดงและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มีความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (High Quality Research output) อีกทั้งยังมีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (Nationally Important) และเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล (Globally Visible) ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น โดยพิจารณา ผลงานย้อนหลัง และ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่างานวิจัยได้รับการอ้างอิงมากกว่า 10,000 ครั้ง ในสาขาโลหิตวิทยา ชึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญของสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติและองค์การอนามัยโลก
 
โดยมีผลงานวิจัยที่สำคัญ ได้แก่ การค้นพบโรคทางโลหิตวิทยาชนิดใหม่ในคนไข้ชาวไทย และตั้งชื่อว่าโรคเคแอลเอฟ 1, การค้นพบกลไกการเกิดโรคพันธุกรรมแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ ที่ส่งผลต่อการควบคุมการแสดงออกของยีน, การวิจัยทางคลินิกของผลการรักษาภาวะเหล็กเกินด้วยยาขับเหล็กที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย, การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินภาวะเหล็กเกินด้วยการวิเคราะห์ภาพจากเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, งานวิจัยเชิงลึกด้านพยาธิสรีรวิทยาของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียทั้งในแง่กลไกทางพันธุกรรม อุบัติการณ์ สาเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งผลงานดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างต้นแบบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน (รถตรวจหาเชื้อโควิด-19) อีกด้วย

...


 
สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ 1.ผศ.ดร.กมลวัช งามเชื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงาน "งานวิจัยขั้นแนวหน้าทางเคมีไฟฟ้าและการประยุกต์ใช้เทคนิคเคมีไฟฟ้าในเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารบ่งชี้โรคและสารพิษในสิ่งแวดล้อม" 2.ผศ.ดร.สุรชัย กาญจนาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงาน "การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อใช้ในการผลิตไบโอออยล์และสารเคมี"