"รองผบ.ตร."แจงเริ่มใช้มาตรการตัดคะแนนการขับรถ มกราคม 2566 เพื่อสร้างวินัยการขับขี่ ป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยจะมีการเพิ่มโทษ พักใช้ใบอนุญาต และตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด หวังสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) ได้ชี้แจงหลักเกณฑ์ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ การบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ และการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถ ว่า เพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ตร.ได้แก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ซึ่งมีหลักการสำคัญ เช่น 1.การเพิ่มโทษของผู้ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับภายใน 2 ปีนับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท 2.กำหนดอำนาจในการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดและสารเสพติดในร่างกายของผู้ขับขี่ที่หมดสติซึ่งไม่อาจให้ความยินยอมได้

3.เพิ่มอัตราโทษปรับขั้นสูงในกฎหมายจราจร จากเดิมโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท แก้ไขเพิ่มเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท และ 4.การกำหนดให้ใช้ที่นั่งนิรภัยหรือมีวิธีป้องกันอันตรายสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ขณะโดยสารรถยนต์ ซึ่ง ตร.อยู่ระหว่างจัดทำประกาศรูปแบบที่นั่งนิรภัย รวมถึงเปิดช่องทางผ่อนคลายสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถจัดหาที่นั่งนิรภัยเด็กไว้ โดยให้ปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอันตราย ซึ่งจะกำหนดรูปแบบที่ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ง่าย ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 ก.ย. 65 นอกจากนั้น ตร.ยังได้ออกมาตรการเพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการใช้มาตรการทางปกครอง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ และ 2.การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร แล้วส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง

...

ด้าน พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผบก.ทล. ซึ่งเป็นคณะทำงานเทคโนโลยีบังคับใช้กฎหมายจราจร ศูนย์บริหารงานจราจร อธิบายเพิ่มเติมว่า มาตรการเพื่อสร้างจิตสํานึกในการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการใช้มาตรการทางปกครอง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ และ 2.การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดกฎจราจร แล้วส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง มีรายละเอียดดังนี้ 1.ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดเรื่องระบบตัดคะแนน โดยจะใช้บังคับในวันที่ 9 ม.ค. 65 ระบบนี้กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่มีคะแนนคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจรจะถูกตัดคะแนนตามจำนวนที่กำหนด โดยข้อหาความผิดมีตั้งแต่ 1 จนถึง 4 คะแนน

ข้อหาที่ตัด 1 คะแนน เช่น ขับรถเร็ว ฝ่าฝืนเครื่องหมายทางม้าลาย ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ตัด 3 คะแนน เช่น แข่งรถในทาง และตัด 4 คะแนน เช่น ขับรถในขณะเมาสุรา หากคะแนนถูกตัดจนเหลือศูนย์คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับคะแนนที่ถูกตัดจะมีการคืนคะแนนเมื่อครบกำหนด 1 ปี สำหรับการทำผิดครั้งนั้นๆ หรือกรณีที่มีคะแนนเหลือน้อย อาจขอเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจรจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อรับคืนคะแนนตามที่หลักสูตรกำหนดก็ได้ ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบคะแนนได้จากเว็บไซต์ PTM E-ticket (https://ptm.police.go.th/eTicket) และแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยก่อนเริ่มใช้มาตรการตัดคะแนน ตร.และกรมการขนส่งทางบกจะแถลงข่าวและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า 2.ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่กรณีผู้ขับขี่ทำผิดกฎหมายจราจร และการกระทำนั้นมีผลหรือมีลักษณะร้ายแรง ได้แก่ 1.มีเหตุก่อให้เกิด น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงสาธารณะ 2.มีลักษณะเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และ 3.มีพฤติการณ์หลบหนีเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล/ทรัพย์สิน ซึ่ง ผบช.น.ภ.1-9 และ ก. เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งพักใช้ใบขับขี่ผู้นั้นครั้งละไม่เกิน 90 วัน โดยการสั่งพักใช้ตามข้อนี้แยกต่างหากจากระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 65 เป็นต้นมา การขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า นอกจากระเบียบทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวยังมีระเบียบที่กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของ ตร. และระเบียบเรื่องการประสานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ระหว่าง ตร. และกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้การใช้มาตรการตัดคะแนนเป็นไป ด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยให้ประชาชนขับขี่และใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย จึงขอให้ร่วมกันปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อสร้างวัฒนธรรมการขับขี่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

...

ส่วนดุลยพินิจของตำรวจในการยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือระงับการใช้รถ พล.ต.ต.เอกราช กล่าวว่า การยึดใบอนุญาตขับขี่ หรือระงับการใช้รถ จะมีประเด็นในเรื่องเจ้าพนักงานจราจร ถ้าพบเห็นผู้ขับขี่ผู้ใดได้มีพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นทางร่ายกาย ทั้งการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ลมบ้าหมู ฯลฯ หากพบเห็นแล้ว เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจที่จะยึดใบอนุญาตขับขี่เพื่อไม่ให้เขาขับรถต่อไป หากร่างกายสมบูรณ์แล้วเมื่อพิจารณาดูแล้วสามารถขับรถต่อไปได้ก็จะคืนใบอนุญาตขับขี่ให้ ส่วนทางด้านจิตใจ เช่น อาจมีเรื่องเครียดทะเลาะกับแฟน มีการขับรถปาดไปปาดมา ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรเห็นว่าอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นก็สามารถขอยึดใบขับขี่ เพื่อไม่ให้ขับรถ หากจุดนั้นเขาไม่มีใบขับขี่ก็มีอำนาจระงับการใช้รถได้ เพื่อไม่ให้เขาขับรถไปเป็นอันตรายต่อผู้อื่น แต่หากเหตุการณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ จบไปแล้วทางเจ้าพนักงานจราจรสามารถใช้ดุลยพินิจว่าสามารถขับรถต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งจะมีกระบวนการต่อมาจากนั้น เช่น หากสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ก็จะส่งไปโรงพยาบาล รวมถึงแจ้งญาติหรือมีกระบวนการอื่นใดที่สามารถปฏิบัติต่อผู้ขับขี่ได้อย่างเหมาะสม และไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคลผู้อื่น.