ชัชชาติ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมเปิด OPEN DATA แจ้งพิกัด PM2.5 เดินหน้าโครงการนักสืบฝุ่น แก้ปัญหาเชิงรุก ด้าน ดร.สุมิท เผยจุดอ่อนแก้ปัญหาฝุ่น

วันที่ 21 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เป็นโครงการของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยเป็นทีมผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ จะทำกิจกรรมลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งในการจัดกระบวนการ จะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมกันสร้างโครงการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังจากการประชุมหารือว่า จริงๆ แล้วเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องสืบเนื่องตั้งแต่ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นเรื่องที่ประชาชนพูดถึงและสั่งให้ทำ ประกอบกับทาง สสส.ได้สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่นำหลายๆ หน่วยงานมาเจอกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยจัดเวิร์กชอป เรื่อง PM 2.5 ซึ่งเราก็ยินดี เพราะนโยบายเรื่อง PM 2.5 มีอยู่หลายเรื่อง และเริ่มดำเนินการไปแล้ว หลักๆ มี 4 ด้าน ดังนี้

...

1. การกำจัดต้นตอของ PM 2.5 มีการตั้งนักสืบฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มาจากไหน ทำให้มีข้อมูลระยะยาวและดำเนินการเชิงรุก เช่น กำจัดต้นตอจากรถที่ใช้ระดับเชื้อเพลิงดีเซลที่เผาไหม้ไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการสัมมนาครั้งนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งมีรถเก่าจำนวนมากในกรุงเทพฯ ถ้าไปซื้อรถไฟฟ้าอาจจะแพง ถ้าเปลี่ยนแปลงให้เป็นรถไฟฟ้าได้ทางโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. อาจจะช่วยสอนได้

2. การไปดูต้นตอว่าโรงงานไหนปล่อยควันพิษอย่างไร โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 65 ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีมาตรการออกมาว่า โรงงานต้องมีการติดตามควันมลพิษที่ปล่อยออกมาจากปล่อง ซึ่งเราจะเอาข้อมูลตรงนี้มาเปิดเผยให้มากขึ้น ในส่วนเรื่องการบรรเทาเหตุที่เกิด ต้องพยายามทำในส่วนที่มีค่า PM 2.5 สูงให้ต่ำให้ได้ เช่น บางจุดให้ใช้รถสาธารณะ จำกัดการใช้รถยนต์ สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น หรือปลูกต้นไม้ล้านต้นตามนโยบายเราเพื่อลดฝุ่น

3. การป้องกัน จะต้องมีการแจกอุปกรณ์เพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ ให้กับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุขต่างๆ และ 4. การคาดการณ์และการแจ้งเหตุ โดยมีเครือข่ายตัวเซ็นเตอร์ให้เยอะขึ้น ปัจจุบัน กทม.มีอยู่ 50 จุด ต้องร่วมกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ให้เป็นอย่างน้อย 1,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ จะได้มีการเตือนภัย รวมทั้งการพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำขึ้น มีข้อมูลบนบอร์ดให้ประชาชนเห็นเรียลไทม์ในจุดต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้

“ผมเชื่อว่ามันต้องมี 2 องค์ประกอบด้วยกัน คือ ใช้ ฮาร์ดพาวเวอร์ คือ กฎหมายต้องเข้มข้น กทม.ต้องไปตรวจรถควันดำ ไซต์งานก่อสร้าง ขณะเดียวกับ ซอฟต์พาวเวอร์ ก็สำคัญ อย่างที่จีนเขาเอาข้อมูลเปิดเผยออกมาเลยว่า PM 2.5 เท่าไร ถ้าหากเรา OPEN DATA มีข้อมูลว่าบริเวณไหนปล่อย PM 2.5 พลังของประชาชนจะมีส่วนในการบังคับให้คนลดการใช้การปล่อย PM 2.5 ลง เป็นมาตรการทางการตลาด มาตรการทางสังคม ซึ่งมีผลไม่น้อยกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ หาก กทม.สามารถเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ดร.สุมิท กล่าวเสริมว่า การทำงานของเราไม่ใช่การคิดแผน แต่เป็นการชวนมาขับเคลื่อน จุดอ่อนของการแก้ไขปัญหา PM 2.5 คือ 1. มีคนรับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายและนโยบายอยู่หลายองค์กรมาก ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ 2. ประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นความสำคัญของเรื่องฝุ่น มีแต่เพียงคนบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อน ซึ่งหวังว่าเราจะสามารถเดินทางไปถึงจุดเปลี่ยนที่เราสามารถแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้กับชาวเมืองหลวงได้

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังได้กล่าวเสริมถึงปัญหา PM 2.5 คือ การขาดข้อมูลที่แท้จริง ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง กทม.จะทำโครงการนักสืบฝุ่น คือจะรวบรวมกับทางมหาวิทยาลัยในการวิเคราะห์อากาศอย่างต่อเนื่อง ว่าฝุ่นมาจากไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เรื่องฝุ่นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเจ้าภาพที่ร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นแล้วการบังคับใช้กฎหมายจะลำบาก

นอกจากนี้ปัญหาฝุ่นที่มาเป็นฤดูกาลในช่วงเดือน พ.ย. และหมดเดือน มี.ค. ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นแบบระยะสั้น แต่จริงๆ แล้วมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ฝุ่นมาแค่ 5 เดือน แต่ผลร้ายอยู่ไปตลอดชีวิตหากเข้าไปในปอด ต้องเป็นการวางแผนอย่างเอาจริงเอาจัง และทำในระยะยาว และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

...

“ต่อไปในอนาคตการแก้ไข PM 2.5 อาจจะใช้แพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูลเลยว่า โรงงานนี้ปล่อยสารพิษเท่าไร แต่ละเขตดูแลอย่างไร ถ้าทุกคนเห็นข้อมูลที่โปร่งใส ผมเชื่อว่าจะเกิดความร่วมมือและเกิดพลัง ทั้งซอฟต์พาวเวอร์ คือ พลังของประชาชนที่เข้ามาดูแลพวกนี้ด้วย PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน” นายชัชชาติ กล่าว.