ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นำทำกิจกรรมเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 โดยลงพายเรือคายัคสีแดงเบอร์ 05 ในแม่น้ำ ย้ำแผนมุ่งลดก๊าซเรือนกระจกใน กทม.เป็นศูนย์ในปี 2030
เมื่อเวลา 06.45 น.วันที่ 5 มิ.ย.65 ที่ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 และสวนหลวงพระราม 9 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็น ประธานรวมพลร่วมทำกิจกรรมรณรงค์เก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 (World Environment Day 2022) โดยมี นายขจิต ชัชวาณิชย์ปลัด กทม. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. นายวิรัตน์ มนัสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้แทนกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการเขตบางพลัด หน่วยงานสังกัด กทม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนเข้าร่วมในกิจกรรม
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ปีนี้เป็นแนวคิดรณรงค์ภายใต้หัวข้อ #OnlyOneEarth ตามที่ทราบกันว่าในกาแล็กซีมีดวงดาวเป็นพันล้านดวง แต่โลกมีใบเดียวดังนั้นเราจึงต้องรักษาไว้ แต่หากเราพูดว่าโลกก็จะดูใหญ่ไป ตนจึงพูดถึง Only One Bangkok คือมีแค่กรุงเทพฯ เดียว มีแค่เขตเดียว ย่อยมาที่ชุมชนให้ได้เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้น เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกหลานที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ยังต้องอยู่ในกรุงเทพฯ เดียวนี้ต่อไป
...
"ตามนโยบายของตนที่มีเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net zero) รวมถึงนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น จะต้องสำเร็จภายใน 4 ปี ทั้งนี้ กทม.ไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้ความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายชุมชนและประชาชน โดยมี กทม.เป็นผู้นำ" นายชัชชาติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น นายชัชชาติได้บีบแตรเพื่อปล่อยขบวนเรือเก็บขยะจำนวน 50 ลำ จากนั้น นายชัชชาติลงพายเรือคายัคสีแดงหมายเลข 05 เพื่อสำรวจขยะบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเวลากว่า 30 นาที เนื่องจากไม่มีขยะในแม่น้ำ ในระหว่างที่นายชัชชาติลงเรือ นำเก็บขยะในแม่น้ำอยู่ ก็มีประชาชนแจ้งข้อมูลกับนายชัชชาติว่า เมื่อวานนี้ (4 มิถุนายน) ยังมีขยะอยู่เลย เพราะท่านผู้ว่าฯ มาก็ไม่มีขยะแล้ว ซึ่งนายชัชชาติกล่าวว่า “ไม่เป็นไร วันนี้ไม่มีขยะก็ดีแล้ว เดี๋ยวเราก็ช่วยกันดูแล”
กระทั่งเวลา 07.30 น. นายชัชชาติได้เป็นประธานในพิธีปลูกต้นไม้สะสมในโครงการต้นไม้ 1 ล้านต้น บริเวณสวนหลวงพระราม 8 โดย นายชัชชาติปลูกต้นกล้าไม้มะฮอกกานี พร้อมข้าราชการสังกัด กทม.และประชาชนเข้าร่วมปลูกด้วย ทั้งไม้มะฮอกกานี ตะเคียนทอง และขี้เหล็ก รวม 69 ต้น
เมื่อถามถึงแนวทางนโยบายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ นายชัชชาติ กล่าวว่า ตามแนวคิดการหักล้างก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้ได้ กทม.ต้องร่วมกับองค์กรมหาชนเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจก โดยอย่างน้อยปี 2030 กทม.ต้องเป็นศูนย์ด้วยการจัดการ 4 ปัจจัยในกรุงเทพมหานคร คือ 1.การขนส่งคมนาคม ที่คิดเป็น 30% ฉะนั้น กทม.เป็นตัวอย่างในการลดการใช้การสันดาปภายในด้วยการใช้พลังงานสะอาด พร้อมส่งเสริมระบบนิเวศรถไฟฟ้า กทม.เองต้องเริ่มใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่ต้องดูเรื่องต้นทุนด้วย 2.ลดการใช้พลังงานในอาคาร 3.การกำจัดขยะ เพราะการฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทน ในอนาคตจึงมีแผนการแยกขยะเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด การบำบัดน้ำเสียในคลอง ซึ่งปลัด กทม.มีแนวคิดติดตั้งเครื่องดักไขมันในชุมชนคู่กับการทำบ่อบำบัดน้ำเสียรวมด้วย และ 4.ปลูกต้นไม้ ซึ่งเป้าหมาย 1 ล้านต้นใน 4 ปีเราจะต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกภาคส่วน เช่น ให้วันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้ เพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวตามนโยบายสวนสาธารณะ 15 นาที ทั้งหมดนี้จึงเป็นแนวทางของนโยบายดังกล่าว.
...