นักเรียนไทยคว้า 5 รางวัลชนะเลิศเวทีการประกวด โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ISEF 2022 ที่สหรัฐฯ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ จ.เชียงใหม่ เจ๋งได้ถึง 2 รางวัลใหญ่ “ผลงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป” กับ “Grand Awards” จากผลงาน “AI ตรวจหาพยาธิใบไม้ในตับลดเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี” ได้เงิน 1.7 ล้านบาท ขณะที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รางวัลจากสมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากผลงาน “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”
นักเรียนไทยคว้ารางวัลระดับโลกในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สวทช.ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และพันธมิตร ส่งนักเรียนไทยในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair (Regeneron ISEF) 2022 ซึ่งเป็นการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีตัวแทนนักเรียนจาก 63 ประเทศทั่วโลกและรัฐต่างๆทั่วประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 1,750 คน ลงชิงชัย
...
ปรากฏว่า ทีมเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศได้ถึง 5 รางวัล ที่สำคัญคือได้รางวัล “The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations” ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป ได้เงินทุนการศึกษามูลค่า 50,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.7 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี จากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ในตับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โดย น.ส.นภัสสร หลิดชิววงศ์ นายกฤษ ฐิติจำเริญพร และนายวัฒนพงษ์ อุทธโยธา ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างเครื่องมือช่วยวินิจฉัยโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี จากการตรวจนับไข่ของพยาธิใบไม้ในตับด้วยเทคโนโลยี AI ในการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในภาพถ่ายอุจจาระจากกล้องจุลทรรศน์และวิเคราะห์ความเสี่ยงการมีพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ทำให้สามารถรู้ผลการตรวจได้เร็วขึ้น 83.33 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิเข้ารับการรักษาในระบบได้รวดเร็วและทันเวลา นำไปสู่การป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป
ผอ.สวทช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไทยยังชนะเลิศที่ 1 รางวัล Grand Awards จากโครงงาน“การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำโดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” ของนายภาวิต แก้วนุรัชดาสร นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ และนายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโครงงานเครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี จากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ในตับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่
ผอ.สวทช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลชนะเลิศ Special Award อีก 2 รางวัล จากโครงงาน “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม” ของนายกุลพัชร ชนานำ น.ส.ปกิตตา เกรียงเกษม และนายคุณัชญ์ คงทอง จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยโครงงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลที่ 1 สาขาการพัฒนาสุขภาพระดับโลกจาก USAID หรือองค์การพัฒนาเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯอีกด้วย ส่วนอีกโครงงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Special Award ได้แก่ โครงงาน “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล” ของนายจิรพนธ์ เส็งหนองเเบน และนายฐิติพงศ์ หลานเดช จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ได้รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society สมาคมการวิจัยวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก