"เสี่ยเฮ้ง" คุยฟุ้ง แก้กฎหมายประกันสังคมครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 30 ปี ปลดล็อกเงินชราภาพให้ผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคน เลือกรับบำเหน็จ หรือบำนาญ เมื่ออายุครบ 55 ปี

เวลา 15.00 น. วันที่ 11 พ.ค. 65 ที่ กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แถลงรายละเอียดการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.... หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า การปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมรอบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 จะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนได้รับประโยชน์สูงสุดนับตั้งแต่มีการตั้งกองทุนประกันสังคมมา 30 ปี โดยในรายละเอียดมาตรการ 3 ขอ ขอที่ 1 คือ “ขอเลือก” ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปี สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำเหน็จ หรือรับเป็นบำนาญ จากเดิมให้สิทธิเป็นบำนาญอย่างเดียว เหตุผลเพื่อให้ผู้ประกันตนมีเงินก้อนสำหรับลงทุนไม่ต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ กรณีนี้จะเพิ่มออปชั่นสำหรับคนที่เลือกบำนาญเมื่ออายุครบ 55 ปี รับบำนาญได้เพียง 1 ปี แล้วเสียชีวิต กองทุนประกันสังคมจะส่งต่อให้กับทายาทไปอีก 4 ปี

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับขอที่ 2 คือ “ขอกู้” จะใช้เงินชราภาพที่ผู้ประกันตนส่งสมทบไว้ไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบ และขอที่ 3 คือ "ขอคืน" โดยจะเปิดช่องให้สามารถขอคืนเงินบางส่วน หรือไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินชราภาพที่สะสมไว้ ยกตัวอย่างมีเงินชราภาพ 1 แสนบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนที่ผู้ประกันตนส่ง 4 หมื่นบาท นายจ้างสมทบ 4 หมื่นบาท และรัฐสมทบ 2 หมื่นบาท เมื่อเกิดวิกฤติขนาดใหญ่ เช่น การระบาดโควิดที่ต้องล็อกดาวน์นานถึง 3 เดือน ผู้ประกันตนสามารถขอคืนในส่วนที่ตัวเองสมทบมาคือ 4 หมื่นบาท อีกกรณีหนึ่งที่คิดไว้ คือกรณีเกิดวิกฤติรายบุคลอย่างรุนแรง เช่น ไฟไหม้บ้านทั้งหมด อาจจะต้องช่วยเหลือหรือไม่ ต้องพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องกำหนดคำนิยามความจำเป็นในกฎหมายลูกให้ชัด ซึ่งจากนี้ต้องออกกฎหมายลูกตามมาอีก 15 ฉบับ วันนี้ ผ่าน ครม.ไปแล้ว 50-60% หลังจากนี้จะส่งเข้ากฤษฎีกาพิจารณาแล้วส่งกลับมาที่กระทรวงยืนยันร่างฯ ส่งเข้า ครม. แล้วส่งเข้าสภาฯ ต่อไป

...

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสร้างความมั่นใจว่าไม่กระทบกองทุนได้อย่างไร เนื่องจากเห็นเพียงมาตรการเงินออกจากกองทุน นายสุชาติ กล่าวยืนยันว่า ไม่กระทบแน่นอน ที่ผ่านมามีคนเกษียณรับบำนาญเพียงปีละ 4 แสนคน ยังมีเงินพอแต่ในระยะยาวมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนรายอื่น เพราะส่งผลให้เงินลงทุนลดลง 3-4 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ได้ดอกผลลดลงด้วย ถือเป็นการเสียโอกาสของผู้อื่น จึงมีแนวคิดให้ผู้ใช้สิทธิ 3 ขอ ต้องจ่ายค่าเสียโอกาสให้กับผู้ประกันตนคนอื่น โดยหัก ณ ที่จ่าย อัตรา 3-4 เปอร์เซ็นต์ คาดว่ากฎหมายกว่าจะผ่านทุกขั้นตอนประมาณปี 66 น่าจะมีผู้ประกันตนมาขอสิทธิประมาณ 5 ล้านคน เรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกันตนสามารถจับต้องหรือได้ใช้ประโยชน์จากเงินที่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือน.