กมธ.ที่ดินฯ สภาผู้แทนฯ รับหนังสือเรียกร้องให้ตรวจสอบมาตรฐานสวัสดิภาพ "วังช้างอยุธยา" พร้อมชวนนักท่องเที่ยวเลือกชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 65 นายคุณากร ปรีชาชนะชัย และนายนิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร รับมอบหนังสือจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection นำโดยนางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่าฯ และ นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบายฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบวังช้างอยุธยา แล เพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอและข่าวสาธารณะเกี่ยวกับการทำร้ายช้างชื่อ "พลายจันเจ้า" ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของปางช้างดังกล่าว
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกฯ กล่าวว่า ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนตรวจสอบปางช้างที่เกิดเหตุว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินงานตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพช้างตามกฎหมายหรือไม่ สิ่งที่ปรากฏในวิดีโอเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความโหดร้ายทารุณที่ช้างไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกหลายชีวิตต้องเผชิญ ผ่านการถูกบังคับให้ทำกิจกรรมที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า เพียงเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาและนักท่องเที่ยวเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยเองจึงควรมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อนำไปสู่การยุติการใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง ซึ่งเป็นเหตุผลให้เรามายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้
นอกจากนี้ องค์กรฯ ยังได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชน เรียกร้องให้ร่วมกันตั้งคำถามและหาข้อมูลเกี่ยวกับการนำช้างมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น ตลอดจนเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเลือกชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ หรือ "ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง" ซึ่งไม่มีการขี่ช้างหรือโชว์ช้าง ช้างมีโอกาสได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงธรรมชาติ
...
ทั้งนี้ อาสาสมัครองค์กรฯ และกลุ่มคนรักช้างที่ลงชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ช้างไทย ได้ร่วมถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการนำช้างมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโหดร้ายทารุณ บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มักถูกวิจารณ์ในแง่ลบทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจากการที่ได้พบเห็นการบังคับช้างอย่างทารุณ
ด้านนายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบายฯ เผยว่า ที่ผ่านมาองค์กรฯ พบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างไทยมีความซับซ้อน ไม่ทันสมัยและไม่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเหตุการณ์ทารุณกรรมช้างที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลของช้างไทยอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงควรมีแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับภาคประชาสังคมโดยเร่งด่วน เพราะจะสามารถช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาสวัสดิภาพช้างได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ.