กรุงเทพมหานครฯ ในวันนี้ ได้ดำรงสถานะการเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมานานถึง 240 ปีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยกรุงเทพฯแทบจะเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ศูนย์กลางการเงินการธนาคาร ศูนย์กลางการพาณิชย์ ศูนย์กลางการสื่อสาร ศูนย์กลางความบันเทิง ศูนย์กลางความเจริญของประเทศ และศูนย์กลางอื่นๆมากมาย
ถึงกับมีคำกล่าวว่า “ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ กรุงเทพฯคือประเทศไทย” หลายคนอาจเริ่มอึดอัดกับการเติบโตของกรุงเทพฯ เพราะท่ามกลางการพัฒนาและการเจริญเติบโต ได้สร้างปัญหาสั่งสมตามมามากมาย อาทิ คดีอาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำ ความแออัด ปัญหามลพิษ ฝุ่นควัน รถติด น้ำท่วม เป็นต้น
ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเป็นอีกวันสำคัญของชาวกรุงเทพฯ เพราะเป็นวันที่ชาวกรุงเทพฯจะได้มีโอกาสใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม.กันอีกครั้ง หลังจากไม่ได้ใช้สิทธินี้มายาวนานถึง 9 ปี
ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” จึงขอถือโอกาสสะท้อนความรู้สึกของคนกรุงเทพฯและคนที่ใช้ชีวิต กินอยู่...ทำงานหาเลี้ยงชีพ ทำธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ว่า
“พวกเขาอยากเห็น หรืออยากให้ “กรุงเทพฯ” เป็นแบบไหนกันบ้าง” มาดูกัน
***************
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง
“จิรายุส” บอกว่า กรุงเทพฯมีศักยภาพในการเป็น“ดิจิทัลฮับ” ของอาเซียนและเอเชีย โดยสามารถทำให้เกิดได้ในยุค Web 3.0 ซึ่งการจะผลักดันให้กรุงเทพฯไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้น ที่สำคัญคือการสร้าง “คน” ให้พร้อมรับกับโอกาสนี้
...
โดยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องสร้างและต้องมี คือ การมี High speed internet ให้บริการฟรีหรือมีราคาที่ถูกลง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงโอกาสและความได้เปรียบอีกมากในยุคดิจิทัล รวมไปถึงสนับสนุนการเรียนรู้และการปรับทักษะ (Re-skill) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยียุคใหม่ให้กับประชาชนที่สนใจ และสร้างเยาวชนในสถานศึกษาที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งทำให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ที่จะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์และสามารถมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ ต้องสร้างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี ตั้งกองทุน Startup และศูนย์บ่มเพาะ (Incubation center) ที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนเทคโนโลยี Web 3.0 ทั้ง Blockchain, AR, VR, MR, NFTs, คริปโตเคอร์เรนซี AI และ Metaverse
และแน่นอนว่า เพื่อก้าวขึ้นไปสู่การเป็น “ดิจิทัลฮับ” ที่สมบูรณ์แบบ เราต้องการการระดมสมอง หรือแรงงานที่มีทักษะในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่ม Nano Entrepreneur ที่มีรายได้สูงและอยากมาทำงานและท่องเที่ยวไปด้วย (Workation) ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและมีการอยู่อาศัยระยะยาวกว่านักท่องเที่ยว (Tourist) ปกติ โดยจะเข้ามาใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่สามารถนำเม็ดเงินเข้ามาให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศ
นอกจากนี้ ควรอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติที่มีทักษะสูงด้านดิจิทัล เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น เช่น ทำให้กฎระเบียบการขอวีซ่าง่ายขึ้น สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับคนเก่งจากทั่วโลก ให้สามารถเข้ามาทำงานใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย มีระบบการเดินทางขนส่งสาธารณะที่ดี หากกรุงเทพฯมีทั้งหมดเหล่านี้ เราก็สามารถสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น “ดิจิทัลฮับ” ของอาเซียนและเอเชียได้แล้ว
ธนา เธียรอัจฉริยะ
ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
ผู้พัฒนาและให้บริการแอปพลิเคชันฟู้ดดีลิเวอรี “โรบินฮู้ด” ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับผม กรุงเทพฯคือผู้คน ไม่ใช่สถานที่ กรุงเทพฯที่ผมอยากเห็นก็เลยจะเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย ไม่ใช่แค่น่าเที่ยวสำหรับคนต่างบ้านต่างเมืองอย่างในปัจจุบัน
เมืองที่น่าอยู่อาศัยในมุมของผม คือคนที่อยู่ร่วมกัน มีจิตสำนึกสาธารณะ เคารพสิทธิ เคารพพื้นที่ของผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างขี่รถสวนทาง ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ทิ้งขยะลงพื้นที่ส่วนรวม แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ถ้าเราเคารพและไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน สังคมคนกรุงเทพฯก็จะน่าอยู่ขึ้นมาก
...
นอกจากนั้น ยังไม่ควรมีซอยไหนที่มีแค่บ้านใหญ่ไฟส่องสว่างอยู่เพียงบ้านเดียวแต่ที่เหลือมืดมิด อยู่กันลำบากยากเข็ญ คนตัวใหญ่จึงมีหน้าที่คอยช่วยเหลือคนตัวเล็ก ไม่นิ่งดูดาย รอดอยู่ไม่กี่บ้าน กรุงเทพฯที่ผมอยากเห็น จะต้องมีระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พยายามลดความเหลื่อมล้ำ นี่เป็นกรุงเทพฯที่ผมหวังว่าจะต้องเติบโตไปในทิศทางนี้ เป็นเมืองที่น่าอยู่ สำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีลูกผมก็จะเป็นประชากรอยู่ในนั้นด้วย
ในการที่จะสร้างสังคมที่น่าอยู่ ที่มีจิตสำนึกสาธารณะร่วมกันแบบที่อยากให้เป็น ผมต้องฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นต่อไป คนรุ่นผมก่อปัญหาไว้เยอะและคงแก้อะไรกันได้ยากแล้ว
“หัวใจหลักของเรื่องนี้ก็น่าจะอยู่ที่ระบบการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ที่คงต้องใช้เวลาในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ และเห็นใจคนตัวเล็ก คิดถึงความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลา แต่มหานครที่น่าอยู่ของโลกส่วนใหญ่ ก็เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาแทบทั้งนั้น”
สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส อาร์ ที ฟอร์เร๊กซ์ จำกัด
ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ “ซุปเปอร์ริช” สีเขียว
อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี สำหรับคนทุกกลุ่มและทุกวัย ให้มีสุขภาวะที่ดีในการดำรงชีวิต ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อยากให้โครงสร้างเมืองของกรุงเทพฯ มีการกระจายตัวออกไปเป็น “เมืองขนาดย่อม” เกิดขึ้นหลายๆเมืองรอบๆกรุงเทพฯ และเป็นเมืองที่มีคุณภาพ มีบริการสาธารณสุข มีระบบการศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนทุกกลุ่มสามารถ “เข้าถึง” การบริการภายในเมืองของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ
...
ซึ่งการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการลงทุน การค้าขาย ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ตามมา ทำให้คนมีทางเลือก ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ เผชิญปัญหารถติด เบียดเสียด เพื่อเข้ามาทำงานหรือเข้ามารับบริการสาธารณะต่างๆที่กระจุกตัวแออัดอยู่ที่ศูนย์กลาง หรือย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯเท่านั้น
ที่สำคัญ อยากให้กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียว รวมทั้งมีพื้นที่สาธารณะส่วนกลางในแต่ละชุมชนให้มากขึ้น ทำให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นศูนย์กลางที่เปิดให้คนในสังคมชุมชนหรือครอบครัว สามารถมารวมตัวทำกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์ พูดคุยแชร์ประสบการณ์ ที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การแบ่งปันกันมากขึ้น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และเชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ จะทำให้คนกรุงเทพฯมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสังคมและชุมชนที่ดีและยั่งยืน
วิทยา พานิชตระกูล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด
...
ผมเป็นคนปราจีนบุรี แต่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯตั้งแต่ปี 2519 แล้วก็อยู่ที่นี่มาตลอด กรุงเทพฯย้อนกลับไปตอนผมเข้ามาอยู่ใหม่ๆ กับตอนนี้ ส่วนตัวมองว่าแทบไม่แตกต่าง แน่นอนรถติดและมลพิษเพิ่มมากขึ้น แต่ความสะดวกสบายโดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่เข้าถึงง่ายและเท่าเทียม ตรงนี้แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“ระบบรางที่กำลังเร่งก่อสร้างต้องยอมรับว่ามาช้าไปมาก จากนี้มีแต่ต้องเร่งให้ครอบคลุม หากจำเป็นต้องสนับสนุนค่าบริการ ก็ต้องทำเพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไป กรุงเทพฯมีคนทำงานภาคบริการเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว คนพวกนี้ต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เราจึงเห็นบางประเทศมีการเก็บภาษีน้ำมันกับคนที่ใช้รถส่วนตัวในระดับสูง เพื่อนำมาช่วยเหลือคนใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่ที่เมืองไทยคงทำไม่ได้ ราคาของระบบขนส่ง โลจิสติกส์ในกรุงเทพฯจึงอยู่ในระดับสูง”
สิ่งที่อยากเห็นอีกอย่างคือจำนวนสวนสาธารณะที่มากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วไป พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ 1 คนอยู่ที่ 6.99 ตารางเมตร ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จึงต้องไปพักผ่อนในห้างสรรพสินค้าแทน สวนสาธารณะที่พอเพียงยังช่วยกระตุ้นให้คนออกกำลังกายมากขึ้น คนกรุงเทพฯจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ผมยังอยากเห็นกรุงเทพฯแออัดน้อยลง อยากเห็นการกระจายตัวของที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญขยับออกไปสู่พื้นที่ตะเข็บกรุงเทพฯรวมทั้งเมืองบริวารใกล้เคียง เพื่อลดความแออัดและขยายความเจริญไปยังพื้นที่อื่นๆบ้าง “ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้แก้ทันที คงเป็นเรื่องการจราจรที่ติดขัดมาทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งปัญหาฝนตกน้ำท่วม ถนนหลายจุดในกรุงเทพฯไม่มีระบบระบายน้ำ ฝนตกทีไรน้ำท่วมทุกที ตรงนี้อยากให้รีบแก้”
ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้
อยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งการมีสุขภาวะที่ดี เป็นเมืองสะอาดที่ใส่ใจในสุขภาวะของผู้คน หลังวิกฤติโควิด เราควรร่วมใจกันทำเรื่องนี้ให้ต่อเนื่อง ช่วงโควิดระบาดไปที่ไหนก็มีที่ให้ล้างมือฆ่าเชื้อโรคกันเราควรทำให้ต่อเนื่อง ขณะที่ร้านอาหารและโรงแรมต่างๆที่ขณะนี้ต้องมีมาตรฐาน SHA และ SHA+ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการความสะอาดและความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ก็ควรรักษามาตรฐานให้มีอยู่ต่อไป ไม่ได้ทำเพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ แต่ทำเพื่อคนกรุงเทพฯทุกคนด้วย
นอกจากนี้ จะต้องเข้มงวดในระบบการจัดการขยะ ระบบจัดการน้ำเสีย การดูแลมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ อย่างการทิ้งบรรจุภัณฑ์ขยะมูลฝอยต่างๆ แทนที่จะทำถังขยะที่มีสีเป็นเครื่องหมายในการแยกทิ้งขยะแต่ละประเภท หากเป็นไปได้ตัวบรรจุภัณฑ์ต่างๆนั้นก็ควรมีเครื่องหมายสีให้ตรงกับสีของถังขยะแต่ละประเภทด้วยก็จะดีมาก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของผู้ประกอบการและการสร้างความรู้ความเข้าใจและรณรงค์ขอความร่วมมือกับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นอกจากอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี มีความสะอาด และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ต้องมีพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สำหรับออกกำลังกายของคนกรุงเทพฯให้มากขึ้นด้วย และที่สำคัญต้องทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย
สุดท้ายกรุงเทพฯจะเป็นเมืองที่ผู้คนทั่วโลกอยากมาใช้ชีวิตอยู่และทำงาน ตามวิถีโลกใหม่ Work from anywhere ได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุข เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีสีสันที่สามารถดึงดูดผู้คนทั่วโลกให้อยากเข้ามาอยู่แล้ว แต่ก่อนอื่นเราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีให้กับคนกรุงเทพฯได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯอย่างมีความสุขก่อน
น้ำฝน กำทา
“ป้าฝน” แม่ค้าข้าวแกงริมทาง ในซอยเฉยพ่วง
“ป้าฝน” ชาวพิจิตรที่เข้ามาทำมาหากินใช้ชีวิตในกรุงเทพฯกว่า 30 ปี จนกลายเป็นคนกรุงเทพฯไปแล้ว เล่าว่า เริ่มมาเป็นคนงานก่อสร้างที่ย้ายไปตามไซต์งานต่างๆรอบกรุง ตามแต่นายจ้างผู้รับเหมาจะได้งานที่ไหน รับบทอาชีพคนงานก่อสร้างครั้งสุดท้ายคืองานก่อสร้างตึกซันทาวเวอร์ ที่หัวหน้างานเปิดโอกาสให้ขายน้ำและขนมให้คนในไซต์งานด้วย จนเมื่อตึกซันทาวเวอร์สร้างเสร็จ และต้องอพยพไปทำไซต์งานอื่น แต่ “ป้าฝน” เห็นโอกาสจากผู้คนและพนักงานออฟฟิศที่อยู่ในซอยนี้หนาแน่น จึงขอปักหลักขายอาหารอยู่ที่นี่ ขายมาทุกอย่างทั้งข้าวโพดต้ม-ข้าวโพดคั่ว ไส้กรอกทอด มะม่วงน้ำปลาหวาน โป๊งเหน่ง ลูกชิ้นปิ้ง เห็ดย่าง ขนมปังปี๊บ ขยับที่ขยับทางย้ายไปเรื่อยตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอย
ก่อนที่จะได้ไมตรีจาก “เจ๊ณี” เจ้าของร้าน “โจ๊กเจ๊ณี” เพื่อนแม่ค้าใจดี ให้พื้นที่หน้าร้าน ตั้งโต๊ะขายฟรีไม่เสียค่าเช่า จึงทำข้าวผัดขาย กล่องละ 15 บาท ขยับขยายจนกลายเป็นร้านข้าวราดแกงร้านใหญ่ ริมถนนในซอยเฉยพ่วง ก่อร่างสร้างลูกหลานเป็นครอบครัวใหญ่ ให้ผู้คนในซอยได้ฝากท้องยามหิวตั้งแต่มื้อเช้ายันมื้อค่ำ
“ป้าฝน” บอกว่ากรุงเทพฯวันนี้เปลี่ยนไปมาก ผู้คนแก่งแย่งเอาตัวรอด ต่างคนต่างอยู่ ไม่เหมือนสมัยก่อน อยากให้คนกรุงเทพฯกลับมาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจช่วยเหลือกันเหมือนแม่ค้าในซอยเฉยพ่วง
และสิ่งที่เห็นแปลกตาตอนนี้ คือมีคนจน คนเร่ร่อนไร้บ้าน แวะเวียนเข้ามาอยู่ในซอยเฉยพ่วงและบริเวณรอบๆเพิ่มขึ้นมาก เขาน่าจะตกงานกันมา บางคนอาจเป็นอันตราย แต่บางคนก็น่าสงสาร ซึ่งร้านป้าทำได้แค่ให้ข้าวเขากินเท่านั้น อยากให้ทางการเข้ามาสอดส่องดูแล
นอกจากนี้ยังอยากเห็นกรุงเทพฯมีความสะอาดสวยงาม ให้สมกับที่คนต่างจังหวัดมองกรุงเทพฯว่าเป็นเมืองฟ้าอมร ทุกคนต้องร่วมมือกันทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง เพื่อให้ กทม.เข้ามาเก็บไปกำจัดให้ถูกที่ทาง
“ป้าฝน” ยังทิ้งท้ายว่า ซอยเฉยพ่วงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเยอะมาก บ้านเรือนที่เคยอยู่กันแออัดก็กลายมาเป็นคอนโดตึกสูง สำนักงานออฟฟิศใหญ่ๆเข้ามาแทนที่ มองอีกด้านก็คือความเจริญ แต่ความเจริญที่เกิดขึ้นได้เข้ามาเบียดบังพื้นที่ของแม่ค้าแม่ขายถูกไล่ที่ค้าขายไปจำนวนมาก หลายครอบครัวต้องอพยพกลับไปทำไร่ทำนาที่บ้าน
“อยากให้เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ อยากให้มีพื้นที่ให้คนตัวเล็กๆที่ไม่มีปัญญาเข้าไปเสียเงินเช่าพื้นที่ในตึกได้มีที่ทางทำมาหากินเลี้ยงชีพบ้าง แม่ค้าหาบเร่แผงลอยริมทางในซอยนี้เขาไม่ได้หากินแค่ปากท้องเขาแค่นั้น แต่มีภาระต้องส่งเงินทองกลับไปเลี้ยงดูพ่อแม่ปู่ย่าตายายและลูกหลานที่คอยท่าอยู่ในต่างจังหวัดด้วย”.
ทีมเศรษฐกิจ