ปลัดสาธารณสุข เผย มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับบริการแบบ “เจอ แจก จบ” แล้ว 2 แสนกว่าราย พร้อมกำชับทุกจังหวัดเร่ง SAVE กลุ่ม 608 ฉีดวัคซีน ชี้ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว-คนรู้จัก
วันที่ 16 มี.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 23,945 ราย รักษาหาย 23,339 ราย กำลังรักษา 221,972 ราย จำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,401 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 507 ราย และมีผู้เสียชีวิต 70 ราย
ทั้งนี้ ในภาพรวมยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก ทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและคนรู้จัก ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลานาน เช่น รับประทานอาหาร ดื่มสุรา ทั้งในงานเลี้ยง ที่บ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร และแพร่เชื้อต่อให้กับกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตตามมา
...
“กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกจังหวัดเร่งมาตรการ SAVE 608 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นในผู้ที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่กลุ่ม 608 โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล จังหวัดที่มีประชากรจำนวนมาก จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว และขอให้คงมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา หากเกิดการติดเชื้อและเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย สามารถเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวเองที่บ้าน (OPSI) หรือ เจอ แจก จบ ได้”
สำหรับผลการดำเนินงาน เจอ แจก จบ ตั้งแต่วันที่ 1-13 มี.ค. 2565 ในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า มีผู้เข้ารับบริการสะสม 207,534 ราย เฉลี่ยต่อวัน 15,964 ราย สถานพยาบาลเปิดบริการแล้ว 513 แห่ง โดยเขตสุขภาพที่ 12 มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยต่อวันสูงสุดถึง 14,580 ราย และมีผู้เข้ารับบริการเฉลี่ยต่อวัน 3,993 ราย ขณะพื้นที่ กทม. มีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ 11,203 ราย เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 6,740 ราย สังกัดกรมการแพทย์ 4,463 ราย
ทางด้านโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 ที่ช่วยรองรับผู้ป่วยพื้นที่ กทม. มีผู้รับบริการ 15,893 ราย อยู่ในสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 65% จ่ายยารักษาตามอาการมากที่สุด 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร 24% และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 26% ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และช่วยลดปัญหาตกค้างในการเข้าระบบรักษาผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ได้อย่างดี.