สปส.ระดมทุกสรรพกำลัง เตรียมพร้อมรับมือโควิดฯ เผยขั้นตอนละเอียดยิบ หากผู้ประกันตนสงสัยติดเชื้อ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.65 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแผนรับมือหากมีผู้ประกันตนป่วยติดเชื้อโควิดฯ สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ตลอดจน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้อง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จึงได้สั่งการให้ สปส.กำชับสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ที่ทำการรักษาสามารถเบิกค่ารักษา/ค่าตรวจกับ สปส.ได้ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดรวมทั้งการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ถึงขั้นตอนแนวทางการตรวจรักษาโควิดฯ ในกรณีผู้ประกันตนสงสัย/เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ/สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิดฯ หรือเป็นผู้ติดเชื้อโควิดฯ สามารถทำการตรวจคัดกรองด้วยตนเองหรือที่สถานพยาบาลตามสิทธิ สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี antigen test kit (ATK) หากผลตรวจ ATK เป็นบวกขึ้น 2 ขีด ต้องเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการรักษา ดังนี้

กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก ผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการ/อาการเล็กน้อย-ปานกลาง การเข้ารับการรักษา (Home Isolation : HI) กรณีผู้ประกันตนประสงค์เข้ารักษาที่บ้าน และมีความพร้อมด้านสถานที่ โดยไม่ต้องขอตรวจยืนยันผล RT-PCR โดยติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับการรักษาจัดส่งยาหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษา  พร้อมทั้งการติดตามอาการจากแพทย์ และพยาบาลของสถานพยาบาลนั้นๆ

สำหรับช่องทางการติดต่อเข้ารับการรักษาตัวในระบบ Home Isolation ของ สปสช. มี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) โทรศัพท์เข้าสายด่วน 1330 กด 14 2) ไลน์ออฟฟิเชียล สปสช. @nhso หรือคลิกที่นี่  และ 3) ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช.หรือคลิกที่นี่ ส่วนกรณีผู้ประกันตนไม่สะดวกในการติดต่อด้วยตนเองนั้น สามารถติดต่อประสานหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือขอรับรักษาหรือโทรศัพท์ติดต่อได้ ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506 กด 6 และกด 7

...

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเข้ารับการรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation : CI) กรณีผู้ประกันตนประสงค์เข้ารักษาที่บ้าน แต่สภาพบ้านไม่พร้อมทำ CI สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ก่อน หรือติดต่อประสานหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง สายด่วน 1506 กด 6 และ กด 7 ส่วนกรณีการเข้ารับการรักษาใน Hospitel นั้น ถ้าผู้ประกันตนท่านใดประสงค์จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล ด้วยมีข้อจำกัดไม่สามารถรักษาที่บ้านได้ สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอรับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR ก่อน  ซึ่งถ้าผลการตรวจ RT-PCR ยืนยันผลเป็นบวกแล้ว ให้สถานพยาบาลตามสิทธิฯ หรือสถานพยาบาลที่ทำการตรวจนั้น จัดหาโรงพยาบาลรับผู้ประกันตนเข้ารับรักษาโดยเร็ว

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ในผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม-สีแดง ที่มีอาการรุนแรงในบุคคลทั่วไป เช่น มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย และมีโรคประจำตัว ส่วนในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมถึงบุคคลที่มีโรคประจำตัวควบคุมไม่ได้ และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ให้ติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR และเข้าสู่กระบวนการรักษาในสถานพยาบาลนั้น ตามแนวทางที่สาธารณสุขกำหนด

"สำหรับกรณีผลตรวจ ATK เป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) แต่มีอาการไข้สูง 37.5 องศาฯ ไอ มีน้ำมูกเจ็บคอ หายใจเหนื่อย ตาแดง ผดผื่น และถ่ายเหลว ซึ่งหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมานี้ แนะนำให้ผู้ประกันตนติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯ/สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอตรวจยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR ถ้าผลตรวจยืนยันเป็นลบ มีประวัติเสี่ยงแนะนำให้กักตัว สังเกตอาการอาการ และตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน ถ้าไม่มีประวัติเสี่ยง ไม่ต้องกักตัว สำหรับผลตรวจยืนยันออกมาเป็นบวก ให้สถานพยาบาลรับผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ตามแนวทางการรักษาโควิดฯ ส่วนกรณีที่แพทย์ซักประวัติพบว่าไม่มีความเสี่ยงและไม่เข้าเกณฑ์การตรวจของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกันตนประสงค์ขอตรวจเอง ซึ่งไม่อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเอง" นายบุญสงค์ กล่าว 

นอกจากนี้ นายบุญสงค์ ยังกล่าวอีกว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีช่องทางการติดต่อประสานงานให้บริการช่วยเหลือผู้ประกันตน เข้ารักษาในสถานพยาบาล/Hospitel กรณีที่ไม่สามารถติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิฯได้ หรือได้รับการปฏิเสธการรักษา ผู้ประกันตนสามารถติดต่อประสานหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่ง หรือที่สายด่วน 1506 กด 6 และ กด 7* ให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ