แพทย์เผยอาการผู้ป่วยเหลือง-แดง แบบไหนเข้าเกณฑ์ “UCEP Plus” เตรียมดำเนินการ 16 มี.ค.นี้ ย้ำ รักษาแบบไหนก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นอยากย้ายที่รักษาเอง
เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 9 มี.ค. 2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง UCEP COVID Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ์ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (8 มี.ค. 2565) ว่า ตอนนี้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลง และอยู่ในช่วงกำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการรักษา โดยเน้นการทำ Home Isolation เป็นหลัก จนล่าสุดเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก “เจอ แจก จบ” เป็นไปตามสถานการณ์ของโรค ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยมักจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ ที่มีการดูแลโรคอื่นๆ ด้วยต้องมาดูแลโควิด-19 เป็นหลัก จึงมีการปรับรูปแบบเพื่อให้กลับไปสู่การรักษาผู้ป่วยตามสิทธิ์ มีผลตั้งแต่ 16 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป
...
ทั้งนี้ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโควิด-19 หรือ ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะเข้าเกณฑ์ UCEP Plus และยังสามารถรับรักษาได้ในทุกโรงพยาบาล อยู่รักษาได้จนหาย ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นผู้ป่วยหรือญาติประสงค์ไปรักษาที่อื่นเอง ก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สำหรับผู้ป่วยสีเขียวก็ยังมีระบบการรักษาเดิมอยู่ ไม่มีการยกเลิก แต่หากกรณีอาการจากสีเขียวเป็นเหลืองก็เข้าสู่การรักษาแบบ UCEP Plus ซึ่งการปรับการรักษานี้จะทำให้โรงพยาบาลสามารถมีพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยหนัก และให้บริการอื่นๆ ได้
ขณะที่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเสริมถึงเกณฑ์ประเมินคัดแยกผู้ป่วย ว่า ตรวจพบ ATK หรือ RT-PCR มีผลเป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. มีภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลงเมื่อเทียบกับความรู้สึกเดิมที่มีอยู่แล้ว มีการชักเมื่อแรกรับที่จุดเกิดเหตุ
2. มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง มีภาวะหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ มีภาวะออกซิเจนในเลือดแรกรับโดยที่ยังไม่ได้ให้ออกซิเจน น้อยกว่า 94% มีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ กรณีในเด็ก มีอาการหายใจลำบาก ซึม ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง หรือไปออกกำลังกาย ออกแรง แล้วมีภาวะพร่องออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% หรือมีภาวะเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์/ผู้คัดแยก
3. มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือมีโรคร่วม เช่น กลุ่ม 608 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ มีภาวะไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน มีน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ โรคตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ เม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรืออื่นๆ ตามแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นผู้คัดแยก
โดยภาวะหรืออาการข้างต้นเป็นเกณฑ์ที่จะสามารถเข้าสู่เงื่อนไขของการรักษาได้ แต่เงื่อนไขการใช้บริการ UCEP Plus ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสถานพยาบาลกำหนด ส่วนขั้นตอน UCEP Plus คือ โทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 จากนั้นมีการนำส่งโรงพยาบาลได้ทั้งรัฐและเอกชน โดยทางโรงพยาบาลจะมีการประเมินอาการและมีการรักษาเบื้องต้น หากเข้าเกณฑ์ก็จะใช้สิทธิ์ได้ ส่วนกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์หรือเป็นผู้ป่วยสีเขียวก็จะไม่เข้าเงื่อนไข UCEP Plus เว้นแต่เข้าไปรักษาแล้วมีอาการแย่ลงเป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ทาง สพฉ. ยังเตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเอาไว้ด้วย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์หรือเข้าสู่สถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับสิทธิ์ทั้งที่ผู้ป่วยมองว่าควรได้รับสิทธิ์ ให้ประสานมายังหมายเลข 02-872-1669 เพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แนะที่สามารถประสานกับโรงพยาบาลนั้นๆ ได้
...
ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ หรือโรงพยาบาลปฐมภูมิ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีเป็นผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีแดง ย้ำว่าเข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน ไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าพบว่ามีค่าใช้จ่ายให้ติดต่อ 1330 ยกเว้นอยากได้ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ ต้องจ่ายเพิ่มเอง ยืนยันว่าการรักษาที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 16 มี.ค. 2565 รัฐบาลยังรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ความมั่นใจในส่วนของผู้ประกันตนว่า ผู้ป่วยสีเขียวสามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ รวมถึงทุกโรงพยาบาลในคู่สัญญา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประกันสังคมจะดูแลทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วยสีหลืองและสีแดง เข้ารักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเช่นกัน ประกันสังคมจะเข้าไปร่วมจ่าย หากมีปัญหาให้ติดต่อสายด่วน 1506 กด 6 หรือกด 7 กรณีไปโรงพยาบาลแล้วไม่ได้รับความสะดวก ขอให้ความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลเยียวยาและรักษาอย่างดี
...
ในช่วงท้าย นพ.ธเรศ ได้ตอบคำถามกรณีหลัง 16 มี.ค. ผู้ป่วยสีเขียวที่ต้องการรักษาเอกชน หรือ Hospitel จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนการรักษาแบบ เจอ แจก จบ และ Home Isolation สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ โดยเป็นรับรองว่าเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 จริง ส่วนจะนำไปเบิกประกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามสัญญาในกรมธรรม์ ขณะที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1426 กรณีหากมีปัญหาในเรื่องรับบริการสถานพยาบาลเอกชน
“รัฐบาลมีความเป็นห่วง การที่ออกหลักเกณฑ์ UCEP Plus เพื่อจะให้ผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างมากจะได้รับความสะดวก ได้รับการดูแลโดยไม่ต้องไปดิ้นรนหาเตียง หากมีอะไรที่ไม่สะดวกทุกหน่วยงานมีสายด่วน พร้อมฝากประชาชนชนว่า การป้องกันตนเองจะดีที่สุด หากเจ็บป่วยติดต่อสถานพยาบาลตามสิทธิ์ก่อน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น หากจำเป็นจะส่งต่อโดยใช้สิทธิ์ UCEP Plus ไม่ต้องกังวลเรื่องเตียง อาการ และค่าใช้จ่าย”
อย่างไรก็ตาม ทพ.อรรถพร ยังได้ตอบถึงการแก้ปัญหาสายด่วน สปสช. 1330 ที่มีการเพิ่มคู่สาย ระดมคนและจิตอาสา รวมถึง ศบค. ส่งทหารมาช่วยรับสาย ปัจจุบันที่เตรียมไว้คือ 3,200 คู่สาย โดยวานนี้ (8 มี.ค.) มีสายเข้ามา 44,447 สาย ในส่วนที่โทรศัพท์เข้ามาแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับสายปัจจุบันลดเหลือ 13% แต่ก็ยังสูงกว่าสิ่งที่ได้เตรียมการไว้ พร้อมแนะนำอีก 2 ช่องทาง คือ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. (คลิกลงทะเบียน) และไลน์ @nhso ซึ่งหลังลงทะเบียน สปสช. จะจับคู่หน่วยบริการให้
...
แต่เนื่องจากคนไข้จำนวนมากอาจจะทำให้การติดต่อช้าไปบ้าง และการรักษาแบบผู้ป่วยนอกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ป่วย พบว่ายังมีผู้ป่วยที่ค้างอยู่และยังไม่ได้รับการติดต่อประมาณ 6,000-7,000 ราย ภายในสัปดาห์นี้ 1330 จะติดต่อกลับไปทุกรายเพื่อซักถามอาการและส่งยาไปให้ตามความจำเป็น เริ่มดำเนินการตั้งแต่พรุ่งนี้ (10 มี.ค. 2565) ถ้าไม่ใช่กลุ่ม 608 ยังร่างกายแข็งแรง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ สามารถกักตัวที่บ้านรักษาตามอาการ หรือไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์เพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยนอกได้.