เด็กก้าวไกล ห่วงโควิดกระจายสู่เด็กๆ คนชรา วอน กทม.เร่งจัดการ ขยะติดเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะในเขตดุสิตในหลายจุดที่ถังขยะไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม ไม่มีการแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 65 นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล แสดงความเป็นห่วงเรื่องของการจัดการขยะในชุมชนในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดว่า จากการเข้าไปทำงานในชุมชนในเขตดุสิต และจากการพูดคุยกับพี่น้องชุมชนต่างๆแถวแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนวัดประชาธรรม ชุมชนพระยาประสิทธิ์ ชุมชนตรอกต้นโพธิ์ หรือชุมชนเสริมสุข ได้รับฟังเสียงสะท้อนในหลายปัญหาในเขตของเราพร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ แต่มีเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะห่วงเด็กๆ นั่นก็คือการจัดการขยะ โดยเฉพาะ ‘ขยะติดเชื้อ’ ที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมครับ

"รู้กันว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดง่าย กลุ่มเสี่ยงที่น่ากังวลมากก็คือเด็กๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน จึงอาจมีอาการรุนแรงได้หากได้รับเชื้อ หรืออาจเกิดภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งการกระจายของเชื้อ นอกจากใกล้ชิดผู้ติดเชื้อแล้ว ขยะติดเชื้อที่จัดการไม่ถูกต้องก็เป็นแหล่งกระจายเชื้อได้ แต่เท่าที่เห็นในหลายจุดถังขยะติดเชื้อไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม ไม่ว่าวิธีการแยกขยะติดเชื้อตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงรอบการเก็บขยะ โดยรถขยะจะเข้ามาเก็บเพียงสัปดาห์ละครั้ง ลองคิดดูครับว่า วันเดียวก็เยอะแล้ว ขยะสะสมทั้งสัปดาห์จะเยอะขนาดไหน ทั้งไม่มีสุขอนามัย สุนัข หนูมาคุ้ยกระจายได้ง่าย ซึ่งในบรรดาขยะเหล่านี้ก็มีขยะติดเชื้อด้วย" นายธันย์ชนนกล่าว

...

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ ในชุมชนมีเด็กและคนชราเยอะ พื้นที่สาธารณะก็ไม่มี การทำกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชนก็กระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งถังขยะของชุมชนก็วางไม่ห่างจากบริเวณที่พ่อแม่พี่น้องออกมาทำกิจกรรม ซึ่งจากการสอบถามทราบว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บขยะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง การจัดการขยะติดเชื้อมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ควรใช้ถุงสีแดงแยกขยะติดเชื้อออกมา เช่น ทิชชูที่เปื้อนเมือกน้ำมูกน้ำลาย ชุดตรวจ ATK ผ้าอนามัย หรือวัตถุอื่นๆ ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งของร่างกาย หากไม่มีถุงสีแดง ก็ควรใส่ถุงดำ ผูกปากถุงให้เรียบร้อยแล้วฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ที่ปากถุง จากนั้นสวมทับในถุงอีกชั้น แล้วติดกระดาษเขียนถุงว่าขยะติดเชื้อให้ชัดเจน ปิดปากถุงแล้วพ่นยาฆ่าเชื้อที่ปากถุงเช่นกัน ขั้นตอนเหล่านี้ จะเห็นว่าการจัดการขยะติดเชื้อมีต้นทุนที่มากขึ้นในแต่ละครัวเรือน สำหรับผู้มีรายได้น้อยยิ่งเป็นเรื่องลำบากในการจัดการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่จึงมีหน้าที่เข้ามาสนับสนุนการจัดการเพื่อลดการระบาดจากขยะติดเชื้อในชุมชนได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ