อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน วัคซีนไฟเซอร์ฝาส้ม 3 แสนโดส มาถึงไทยแล้ว เตรียมฉีดให้เด็ก 5-11 ปี เริ่มวันแรก 31 ม.ค. ที่ รพ.เด็ก ย้ำ เป็นตามความสมัครใจผู้ปกครองและเด็ก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 26 ม.ค. 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ฝาสีส้ม เพื่อฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี ว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา วัคซีนลอตแรกจำนวน 3 แสนโดส ส่งถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และจะทยอยส่งต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 2565) จะมีการส่งวัคซีนฝาสีส้มรวม 3.5 ล้านโดส จากทั้งหมด 10 ล้านโดส ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณจัดซื้อไว้แล้ว น่าจะเพียงพอสำหรับกลุ่มเด็กเล็กนี้

“ให้ได้แน่ใจว่าตอนนี้วัคซีนอยู่ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการส่งวัคซีน ส่งเอกสารให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจสอบคุณภาพ หลังจากผ่านกระบวนการก็จะมีการส่งวัคซีนไปที่จุดฉีดปลายทางทั่วประเทศต่อไป ในเที่ยวนี้จะส่งวัคซีนกระจายไปทั่วประเทศพร้อมๆ กัน”

...

มีแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กช่วงอายุดังกล่าว ที่มีการอนุญาตให้ใช้โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเป็นไปตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงสาธารณสุข ที่ให้เร่งรัดฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ดังนี้

หลักการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี

  • ต้องเป็นวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก (Pediatric formulation dose : ฝาสีส้ม) เท่านั้น
  • เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ของประเทศไทยแล้ว
  • ฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามขนาดและข้อบ่งใช้ที่กำหนดที่กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำ

สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเวอร์ฝาสีส้มในเด็กนั้น จะบรรจุสารเข้มข้น 1.3 มิลลิลิตร (cc) ผสมน้ำเกลือปราศจากเชื้ออีก 1.3 มิลลิลิตร รวมเป็น 2.6 มิลลิลิตร โดย 1 ขวดฉีดได้ประมาณ 10 คน ซึ่งเด็ก 1 คน จะฉีดอยู่ที่ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม/โดส) อีกข้อดีของสูตรนี้คือเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้สูงสุด 10 สัปดาห์ นับตั้งแต่นำออกจากตู้แช่แข็ง แต่ทั้งนี้เมื่อผสมวัคซีนแล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการเน้นย้ำกับบุคลากรในการฉีดวัคซีน

...

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุ 5-11 ปี จะแบ่งการฉีดเป็นที่โรงพยาบาล และโรงเรียน ซึ่งการฉีดที่โรงเรียนจะใช้ระบบเดิมกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กมัธยม ขณะที่เด็ก 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คือ โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า เป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อจะเกิดอาการรุนแรงได้ กลุ่มนี้จะมีกุมารแพทย์พิจารณาดำเนินการฉีดวัคซีนให้

กำหนดการให้วัคซีน จะมีการฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 3-12 สัปดาห์ ในส่วนการฉีดที่โรงเรียนจะกำหนดไว้ที่ 8 สัปดาห์ ส่วนที่โรงพยาบาลจะใช้ระยะ 3-12 สัปดาห์ โดยให้กุมารแพทย์ที่ดูแลเป็นผู้ตัดสินใจในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเด็กคนนั้นเป็นกรณีไป ซึ่งการฉีดยังเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครองและเด็กเป็นหลัก จะไม่มีการบังคับฉีดวัคซีน

ทางด้านอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ยังจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังฉีดอย่างน้อย 30 นาที ส่วนมากจะไม่รุนแรง และหายได้เองใน 1-2 วัน โดยอาจจะมีอาการ เช่น

  • ไข้ หนาวสั่น
  • ปวด บวม มีรอยแดงบริเวณที่ฉีด
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย

...

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากข้อมูลทั้งสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เมื่อเปรียบเทียบกับกับฉีดวัคซีนในเด็กโต ผลข้างเคียงในเด็กเล็กค่อนข้างน้อยกว่าเด็กโต เนื่องจากปริมาณที่ฉีดน้อยกว่า จึงเป็นความสบายใจอย่างหนึ่งของผู้ปกครองจะได้ไม่กังวลเกินไป

“ขอยืนยันว่าขณะนี้วัคซีนมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และวันที่ 31 ม.ค. ก็จะมีการคิกออฟในการฉีดวัคซีนในเด็กเป็นครั้งแรก ในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ของกรมการแพทย์ต่อไป”.

...