"กรมประมง" นำร่องเป็นหน่วยงานปรับระบบให้บริการประชาชน เผยกว่าร้อยละ 90 พอใจบริการ-มีความรวดเร็ว พร้อมทดสอบระบบการจัดการคู่มือสำหรับประชาชน

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 64 ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Chief Change Officer : CCO) กล่าวว่า กรมประมงมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานบริการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ.2564 กรมประมงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน ก.พ.ร.และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ให้เป็น 1 ใน 7 หน่วยงานนำร่องเพื่อปรับปรุงทดสอบระบบการจัดการคู่มือ สำหรับประชาชนที่มีการจัดทำระบบใหม่ เช่น มีการเพิ่มการระบุรายละเอียดในคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงงานบริการประชาชน การเชื่อมโยงระบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคู่มือสำหรับประชาชน และการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่รายจุดบริการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหา และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในกรณีค้นหาคู่มือไม่พบ คู่มือมีความเป็นทางการยากต่อความเข้าใจ รายละเอียดในคู่มือไม่เพียงพอต่อการรับบริการ ซึ่งการปรับปรุงระบบนี้ นอกจากช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการ บุคลากรของกรมประมงแล้ว ระบบยังมีประสิทธิภาพในการติดตามเพื่อประเมินประสิทธิภาพอีกด้วย 

ดร.ถาวร กล่าวต่อว่า กรมประมงมีจุดให้บริการประชาชน สำหรับการออกใบอนุมัติ อนุญาต การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การรับรองในการออกครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด และดำเนินการปักหมุดบนแผนที่ครบทุกหน่วยบริการเรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการสามารถเดินทางไปยังจุดบริการได้อย่างสะดวก และมีระบบการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปยังจุดให้บริการ จากข้อมูลการให้บริการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมประมงได้ดำเนินการออกใบอนุมัติ อนุญาต การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การรับรองไปแล้วจำนวน 298,407 ใบ ซึ่งกรมประมงได้นำข้อมูลจากระบบ CITIZEN Info มาสรุปความพึงพอใจของผู้รับบริการพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในภาพรวมของการบริการเฉลี่ยร้อยละ 93.2 ซึ่งเท่ากับความพึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และมีความพึงพอใจด้านความรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 90.2 ดังนั้น จากผลการประเมินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กรมประมงมีความพร้อมในการส่งมอบบริการที่ดี ในขณะเดียวกันก็พบว่ากรมประมงมีโอกาสที่จะพัฒนาปรับปรุงการให้บริการให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้รับบริการอันเป็นเป้าหมายสำคัญของภาครัฐ ที่จะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง 

...

ดร.ถาวร กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องในครั้งนี้ กรมประมงจะใช้โอกาสในการทบทวนปรับปรุงกระบวนการให้บริการของกรมประมง เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการปรับปรุงกระบวนงานอื่นของกรมประมงในอนาคต เพื่อให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้รับบริการ เชื่อมโยงการให้บริการ ตั้งแต่ต้นจนจบนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ มีการสร้างนวัตกรรมในการปรับปรุงกระบวนการ เพิ่มผลผลิต ช่วยลดต้นทุน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาขีดสมรรถนะให้สูงขึ้น รวมถึงบูรณาการกระบวนการ เพื่อสร้างคุณค่าในการให้บริการแก่ประชาชน อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยยกระดับการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ช่วยสนับสนุนมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐของรัฐบาล ช่วยแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของบุคลากรกรมประมงเมื่อเปรียบเทียบกับภารกิจ ซึ่งต้องดูแลผู้รับบริการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ที่มีผลผูกพันกับงบประมาณในระยะยาว ช่วยประเทศชาติใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และช่วยสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work Life Balance) ให้กับบุคลากรอีกด้วย