ที่ปรึกษา กมธ.สายไฟฟ้าฯ ชี้ประโยชน์ของการนำ "สายไฟฟ้า-สื่อสาร" ลงดิน ได้มากกว่าแค่ความสบายตาเร่งผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสบายตา

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.64 นายอริธัชย์ ชาติอาริยะพงศ์ ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่เศรษฐกิจ กล่าวว่า ในภาพใหญ่ คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมระบุว่าสาเหตุที่เราเน้นศึกษาเรื่องนี้จากพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่เศรษฐกิจก่อน เพราะถ้าเราสามารถแก้ปัญหาทัศนียภาพจากความอัปลักษณ์รกรุงรังเหล่านี้ได้ ศักยภาพที่จะตามมาทันทีคือความสวยงามสบายตาของพื้นที่ประวัติศาสตร์ ตึกอาคารที่เก่าแก่สวยงามจะไม่ถูกบดบังด้วยสายเหล่านี้ที่พันกันอีรุงตุงนังจนแย่งซีนความสำคัญของพื้นที่ไปหมด ศักยภาพทางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นอีกมาก และเชื่อว่าจะมากกว่าการเป็นจุดเช็กอินเรื่องสายไฟรกของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างแน่นอน

นายอริธัชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากสาเหตุเรื่องความสวยงามสบายตาแล้ว เมื่อสายสัญญาณเหล่านี้ถูกนำลงดินจะทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษาไม่ให้เสื่อมสภาพได้ง่ายต่างกับอยู่บนเสาตากลมตากฟ้าด้วย สายเหล่านี้จะอยู่ในท่อที่มีความแข็งแรง และสามารถซ่อมแซมแก้ไขได้จากจุดต่างๆ ที่วางระบบเอาไว้ เทียบกับสายไฟบนเสาแบบเดิมแล้ว อากาศร้อนหน่อย สายก็หย่อนลงเสี่ยงอันตรายต่อผู้สัญจรไปมา ถ้าไฟรั่วก็อาจถึงแก่ชีวิตได้รวมถึงรถหลังคาสูงก็อาจเกี่ยวสายเหล่านี้ดังที่เห็นกันบ่อยๆ ในข่าว

"การนำสายไฟฟ้าและสื่อสารลงดินยังง่ายสำหรับการปรับทัศนียภาพของเมืองให้น่าอยู่ขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะต่อไปเราจะสามารถวางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยปล่อยให้ต้นไม่เติบโตแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาได้ ไม่ต้องคอยตัดให้เตี้ย ริดกิ่งให้เรียวเพื่อไม่ให้ไประสายไฟ สัตว์เล็กๆ ยังจะได้อาศัยร่มไม้เหล่านี้ นกหรือกระรอกจะได้มีชีวิตชีวาสร้างสีสันร่วมไปกับเมืองสำคัญต่างๆ ของเรา" นายอริธัชย์ กล่าว

...