กบร.เห็นชอบไทยจับมือ ICAO ยกระดับมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน  พร้อมเตรียมโปรโมทประเทศ-เตรียมแผนฟื้นฟูหลังโควิดฯ ด้วยการจัดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย (Thai Aviation Industry Conference 2564) สั่ง CAAT ศึกษาเตรียมจัดงานใหญ่ระดับโลกเพื่อดึงนักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าไทยภายใน 2 ปี

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 11/2564 นำโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน ได้ให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับ กพท.ว่าด้วยการตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือกับ ICAO และกลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรมการบิน ในการยกระดับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมแบบเข้มข้น โดยร่างข้อบังคับ กพท. ฉบับที่ ..ว่าด้วยการตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน มีเนื้อหาดังนี้ 

ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นกลุ่มประเทศแรก (Pilot Phase) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2564 จึงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ไม่ให้เกินกว่าระดับปริมาณสุทธิของปี 2563 โดยใช้กลไกการชดเชยและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งไทยจะต้องเริ่มส่งข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของผู้ดำเนินการเดินอากาศ เช่น สายการบิน ให้แก่ ICAO ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป 

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้สอดคล้องกับภาคผนวกของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตามข้อสรุปของคณะทำงานจัดทำแนวทางพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมการบิน (EV-WG)  เพื่อทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ  ซึ่งครอบคลุมภาคผนวกแนบท้ายอนุสัญญาฯ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทย หลักเกณฑ์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภาคการบินและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมการบิน โดย CAAT ได้เสนอและปรับปรุงร่างข้อบังคับ กพท. ฉบับที่ .. ว่าด้วยการตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกิจการการบิน เพื่อใช้สำหรับการกำกับดูแลผู้ดำเนินการเดินอากาศ และผ่านการรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยได้นำผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงเรียบร้อย  จนได้จัดทำร่างข้อบังคับฯฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อ กบร. 

...

ร่างข้อบังคับฯมีหลักการและสาระสำคัญ คือ ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องจัดเก็บข้อมูล รายงานข้อมูลปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ และสถิติการจราจรทางอากาศโดยรวมในแต่ละปีต่อ CAAT ตามรูปแบบและรายการที่กำหนดไว้ สำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่เครื่องบินมีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดมากกว่า 5,700 กิโลกรัม ต้องจัดให้มีการประเมินเบื้องต้นสำหรับข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรอบปี และส่งผลการประเมินเบื้องต้นดังกล่าว พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อ CAAT นอกจากนี้ผู้ดำเนินการเดินอากาศรายใด ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากเที่ยวบินระหว่างประเทศ สำหรับเครื่องบินที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดมากกว่า 5,700 กิโลกรัมในรอบปีใด รวมกันมากกว่าหนึ่งหมื่นเมตริกตัน ต้องจัดให้มีร่างแผนตรวจวัด และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซที่ได้ดำเนินการสอดคล้อง ตามแผนตรวจวัดที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ เมื่อร่างข้อบังคับฯได้รับการอนุมัติและนำไปปฏิบัติ จะทำให้มั่นใจได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถดำเนินมาตรการ CORSIA ของ ICAO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และยังสนับสนุนในการจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ภาคการบินของประเทศไทยอีกด้วย 

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้สรุปผลตามนโยบายการเปิดประเทศ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีและคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 2565 จะมีนักเดินทางต่างชาติกระเตื้องขึ้นไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน จึงให้ CAAT เตรียมความพร้อมต่อเนื่องในการกำกับดูแล และออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิธีปฏิบัติในขั้นตอนการเช็คอิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ด้านการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางและมิติด้านสาธารณสุข สถิติ 25 วันแรกของการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกินแสนคน พบผู้ติดเชื้อในระดับต่ำกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เดินทาง อย่างไรก็ตามให้ CAAT ยังต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อ และศึกษามาตรการทางด้านสาธารณสุข ในการเปิดประเทศของประเทศต่างๆ เพื่อพิจารณาใช้เป็นแนวทางตัวอย่าง 

นอกจากนั้น ยังได้ติดตามความคืบหน้าการจัดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี 2564 (Thai Aviation Industry Conference 2021 : flying to the new era of Thai aviation) โดยงานสัมมนานี้จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00-16.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อแถลงผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเสนอแนวทางการฟื้นฟู ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ และแสดงความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของไทยในอนาคต 

นายศักดิ์สยาม ยังให้นโยบาย CAAT เร่งศึกษาเตรียมการจัดงานโปรโมตประเทศผ่านกิจกรรม ทางการบินระดับโลก เพื่อดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมการบินทั้งไทยและต่างชาติ นักท่องเที่ยว และกระตุ้นการพัฒนากิจการการบินของประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการบินและการขนส่งทางอากาศในทุกมิติ