วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นอกจากจะได้รับการจารึกว่าเป็นวันเปิดประเทศไทย เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทย หลังจากการระบาดหนักระลอกสองของโควิด–19 แล้ว...ยังได้ชื่อว่าเป็นวันแห่งการ “ทุบทิ้ง” โรงภาพยนตร์ “สกาลา” ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงที่สวยที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย

มีรายงานว่ามีแฟนภาพยนตร์รุ่นเก่าที่เคยมีความสุข และมีความหลังอยู่กับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไปยืนถ่าย “คลิป” ขณะเจ้าพนักงานลงมือทุบทิ้งเอาไว้เป็นที่ระลึกจำนวนมาก รวมทั้งมีการ “ไลฟ์สด” ผ่านเฟซบุ๊กเป็นช่วงๆไปพร้อมๆกัน

สำหรับตัวหัวหน้าทีมซอกแซกเองนั้น...มีความรู้สึกเหมือนกับว่า “สกาลา” คือเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เห็นเพื่อนคนนี้ตั้งแต่เกิดใหม่ๆ...จนโตเต็มที่และได้รู้จักมักจี่คุ้นเคยกันไปเที่ยวไปเยือน...อันหมายถึงไปดูภาพยนตร์ไปกินหูฉลามและเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว ยังเดินไปกินข้าวแกงในซอกข้างโรงหนังสกาลา...อยู่เลย

ย่อมจะรู้สึกใจหายมากเป็นพิเศษ เมื่อทราบข่าวว่าเพื่อนรุ่นน้องได้จากไปเสียแล้วด้วยวัย 52 ปีโดยประมาณอย่างที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวไว้

สกาลา เป็นน้องนุชสุดท้องของ “สามใบเถา” โรงภาพยนตร์เกิดใหม่ในย่านการค้าที่เพิ่งพัฒนาใหม่เมื่อปี 2507 ที่เรียกว่า “สยามสแควร์” อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยเป็นสวนผักเป็นชุมชนแออัดอยู่ติดกับถนนพระรามที่ 1 ตรงข้ามกับวังสระปทุม

โรงภาพยนตร์โรงแรก หรือพี่ใหญ่ของที่นี่สร้างเสร็จก่อนเพื่อนก็คือโรงภาพยนตร์สยาม เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เมื่อ 15 ธันวาคม 2509 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “รถถังประจัญบาน” หรือ “Battle of the Bulge” นำแสดงโดย เฮนรี ฟอนดา, โรเบิร์ต ไรอัน ฯลฯ

...

ตามมาด้วยน้องกลางโรงภาพยนตร์ “ลิโด” เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “ศึกเซบาสเตียน” (Guns for San Sebastian) นำแสดงโดย แอนโทนี ควินส์ และ ชาร์ลส์ บรอนสัน ฯลฯ

แล้วก็มาถึงน้องเล็ก หรือปิ่นโตเถาสุดท้าย “สกาลา” เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” หรือ “The Undefeated” นำแสดงโดย จอห์นเวย์ และพระเอกรูปหล่อมาก ร็อก ฮัดสัน

หัวหน้าทีมซอกแซกได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวย่านสยามสแควร์ และได้ดูภาพยนตร์ในโรงรุ่นพี่อันได้แก่ “สยาม” อยู่หลายครั้ง ก่อนไปเรียนต่างแดน และไปทราบข่าวที่โน่นว่าได้มีการเปิดอีก 2 โรงตามมาในภายหลัง

โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์น้องนุชสุดท้องหรือ “สกาลา” นั้นร่ำลือกันว่าก่อสร้างได้สวยงามมาก ใช้สถาปัตย กรรมแบบคลาสสิกลูกผสมระหว่างตะวันออกและตะวันตก... เวลาเดินเข้าไปภายใต้หลังคาโรงจะเหมือนกับอยู่ในโรงละครที่ลอนดอน หรือบรอดเวย์นิวยอร์กเลยทีเดียว

หัวหน้าทีมซอกแซกเป็นนักเรียนนอกบ้านนอกมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่เชิงภูเขาร็อกกี้เมาเทนส์ รัฐโคโลราโด ไม่เคยไปลอนดอนและนิวยอร์กมาก่อน...ฟังแล้วก็นึกภาพความอลังการไม่ออก

ดังนั้น เมื่อเรียนจบกลับมาบ้านแล้ว สิ่งแรกที่ขอให้เพื่อนช่วยขับรถพาไปก็คือ ไปดูโรงภาพยนตร์ สกาลา นี่แหละ...

เพราะอยากจะพิสูจน์ให้หายคาใจไปว่าที่ร่ำลือกันว่าสวยเหมือนโรงละครที่ลอนดอนหรือบรอดเวย์นั้นจริงแท้แล้วเป็นอย่างไร?

ก็ต้องยอมรับและยกนิ้วให้ ณ นาทีแรกที่พบเห็นว่าสวยจริงๆ อลังการจริง โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นและลงบันไดด้านหน้าโรงยอมรับว่าขาสั่นนิดๆ ด้วยความประหม่าไปเลยทีเดียว

จากนั้นมาในช่วงปี 2513-2514 หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ในฐานะผู้แปลข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย...แปลอยู่ได้พักหนึ่งก็มีโอกาสได้เขียนคอลัมน์บันเทิงในนามปากกา “ซูม”

จึงทำให้มีโอกาสคุ้นเคยกับโรงหนังทุกโรง รวมทั้ง 3 ใบเถา ย่านสยามสแควร์ที่เป็นโรงชั้นหนึ่งในเครือ “เอเพ็กซ์” ฉายแต่ภาพยนตร์ฝรั่งชั้นหนึ่งจากฮอลลีวูดอยู่แล้ว

นอกจากจะคุ้นเคยกับทั้ง 3 โรงภาพยนตร์ที่สยามสแควร์แล้ว ยังพลอยคุ้นกับทีมประชาสัมพันธ์ ของ เครือ “เอ เพ็กซ์” ที่ได้ชื่อว่า เป็นทีมประชาสัมพันธ์ที่โด่งดังที่สุดในยุค 2513 (หรือ 1970) อีกด้วย

จำได้ว่า มีการจัดทำ สูจิบัตร เล็กๆแจกฟรีเป็นรายเดือน หรือ 3 เดือนอะไรสักอย่าง ซึ่งทำได้น่าอ่านมาก ใครไปดูหนังที่นี่จะต้องแย่งกันเอาติดมือกลับบ้านอยู่เสมอๆ

คณะผู้จัดทำมีทั้ง คุณ พอใจ ชัยเวฬุ คุณ อมรา พรหโมบล ฯลฯ ที่เพิ่งจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯรุ่นแรกๆมาหมาดๆ และดูเหมือนจะมีมือเก่าอีกท่านหนึ่ง คือ พี่ เวทย์ บูรณะ อยู่ด้วยในทีมนี้

แต่ก็นั่นแหละครับ หลังจากเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้พักหนึ่งก็ถึงยุคโรงภาพยนตร์เริ่มเสื่อมความนิยม...คนดูหนังน้อยลงจนต้องปิดโรงไปทีละโรง 2 โรง

3 ใบเถา แห่งสยามสแควร์ก็ต้องปิดตัวเองในที่สุด...สยาม ไปก่อน เพราะหลังจากถูกเผาด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง เมื่อปี 2553 แล้วก็ไม่ฟื้นกลับมาอีกเลย

ลิโด ยังได้กลับมาอีกพักใหญ่จนวันสุดท้ายก่อนลาจาก เมื่อปี 2561 หัวหน้าทีมซอกแซกก็ยังไปเยี่ยมเยียนและเขียนอำลาไว้ด้วย

ล่าสุด ก็มาถึง สกาลา ซึ่งรู้ข่าวตลอดว่า จะถูกรื้อแน่ๆ แต่ไม่กล้าไปอำลาอาลัยหรือไปดูใจแต่อย่างใดเลย เพราะโควิด-19 อาละวาดหนักจนไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน

...

เห็นข่าวเขาว่า เครือเซ็นทรัล ที่ได้สัมปทานจากจุฬาฯไปดำเนินการจะไม่ “ทิ้ง” สกาลาให้ตายฟรี แต่จะคงรูปลักษณ์เอาไว้ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเขาพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้แล้วเสร็จ

ต้องขอขอบคุณล่วงหน้า และหวังว่าเซ็นทรัลจะไม่ลืมสัญญานะครับ...หาทางให้ “สกาลา” กลับมาเกิดให้ได้

จะสร้างในรูปแบบไหนก็ได้ครับ ขอให้ “สกาลา” ยังอยู่กับ “สยามสแควร์” และประเทศไทยต่อไปตราบนิรันดร์ก็แล้วกัน.

“ซูม”