รมว.คมนาคม ประชุมความพร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง-สายสีแดง เต็มรูปแบบ ช่วง ธ.ค.นี้ เตรียมทยอยปรับรถไฟเข้าสถานีบางซื่อให้หมดแทนหัวลำโพง เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ-ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบาย รบ. 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 6/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference)  โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

โดย นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ หรือ Grand Opening ประมาณช่วงเดือน ธ.ค.หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง หรือ Soft Opening มาตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.64 โดยไม่คิดค่าโดยสาร ปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

...

ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ทั้ง 12 สถานีนั้น รฟท.ได้จ้างทำความสะอาด กำจัดขยะ รักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจรทั้งบริเวณสถานีกลางบางและบริเวณสถานีอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของงานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ และงานบริหารจัดการงานอาคารและระบบวิศวกรรมประกอบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ระหว่างเผยแพร่ร่าง TOR เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะและวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการจัดทำประกาศฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ในส่วนของการปรับจำนวนขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รฟท.ได้มีแผนการดำเนินงานให้ปรับลดลงเหลือ 22 ขบวน เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มลดลงให้วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดในอนาคต โดยได้สั่งการให้ รฟท.กำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการกำหนดอัตราค่าโดยสาร และความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมบัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ใน 3 ปีแรกจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ รฟท.พิจารณากำหนดแนวทาง เพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ และการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐาน EMV สามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry รวมทั้งเปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในเดือน ก.พ.65 และยังได้รับทราบแผนการใช้บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย ได้หารือร่วมระหว่าง รฟท.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขสมก. และบริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดตั๋วร่วมระหว่างหน่วยงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปแนวทางร่วมกัน ทั้งรูปแบบบัตร เทคนิคบัตร และเงื่อนไขการกำหนดราคา พร้อมทั้งพิจารณาข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ การเติมเงิน จุดจำหน่ายบัตร และการแบ่งจ่ายรายได้ของ Operators 

อีกทั้ง รมว.คมนาคม ยังได้มีข้อสั่งการให้ รฟท.วิเคราะห์ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในการให้บริการช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อจัดตารางเวลาของรถไฟและกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้า เพื่อให้มีความเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นหลัก และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลตารางการเดินรถ รูปแบบราคาค่าโดยสารและข้อมูลอื่นๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันท่วงที รวมทั้งได้สั่งการเพิ่มเติมให้ รฟท.ดำเนินการในเชิงรุกด้านการป้องกัน เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาลักลอบตัดสายอาณัติสัญญาณในระบบรถไฟฟ้า เช่น การดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมถึงการขยายผลให้เป็นแบบอย่างในการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อให้ความตรงต่อเวลา และความน่าเชื่อถือในการบริการเดินรถไฟมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีแนวความคิดในการพัฒนาได้เน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์ อันได้แก่การเชื่อมต่อระบบการสัญจร การพัฒนาเชิงพาณิชยกรรม การออกแบบการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นการอนุรักษ์และรองรับทุกวัย และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง โดยได้วางรูปแบบการพัฒนาเป็น 5 โซน ประกอบด้วย พื้นที่สาธารณประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ (Public area and Landscape) พื้นที่ปรับปรุงอาคารเป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Lifestyle Mixed-Use Development และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Urban Mixed-Use Development โดยแบ่งเป็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาวตามการพัฒนาเศรษฐกิจ การคมนาคมโดยรอบพื้นที่และตลาดโดยรวมเพื่อให้สอดรับแนวทางเดียวกัน 

...

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภารกิจการดำเนินงาน และการให้บริการของกระทรวงฯผ่านทางเว็บไซต์ www.mot.go.th You tube : MOT Chanel Twitter/Facebook: ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม Line Official : กระทรวงคมนาคม หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านช่องทาง Facebook Fan page : Bang sue Grand Station หรือ Call Center 1690 ซึ่งทุกความคิดเห็นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยต่อไป