กมธ.ดีอีเอส ลงพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ช่วยชาวบ้านบนดอยห่างไกล ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ติดต่อสื่อสาร พร้อมตรวจความพร้อมโครงสร้างดิจิทัล รองรับเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ.ดีอีเอส พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ อาทิ นายสยาม หัตถสงเคราะห์ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส นายเสมอกัน เที่ยงธรรม เลขานุการ กมธ.ดีอีเอส และนายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ โฆษก กมธ.ดีอีเอส เป็นต้น พร้อมด้วยตัวแทนจากสำนักงาน กสทช. ตัวแทนจากผู้ให้บริการค่ายมือถือ ลงพื้นที่จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนประมาณ กว่า 500 คน ในหมู่บ้านแม่ห่าง บ้านห้วยมะเกลี้ยง และบ้านห้วยทราย อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนดอยและห่างไกลจากตัวอำเภอเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารใดๆ ของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน จึงได้รวมตัวกันมายื่นเรื่องต่อกรรมาธิการฯ เพื่อช่วยประสานในการขอความอนุเคราะห์ เพื่อขอติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เพื่อให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านดังกล่าว สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก

...

โดย น.ส.กัลยา กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อมาติดตามเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ใน อ.เวียงป่าเป้า ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้ ทำให้ชีวิตไม่ได้รับความสะดวง ทาง กมธ.ดีอีเอส ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงลงพื้นที่มาติดตามประสานงาน โดยฝากเรื่องไปยัง กสทช. ในการพิจารณาประสานงานต่อไป ซึ่งการติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยพัฒนาในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ ประเทศไทยทั่วทุกพื้นที่ควรจะมีสัญญาณเข้าถึงให้หมด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีพี่น้องประชาชนอาศัยอยู่ ดังนั้น กมธ.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเดินทางมา จ.เชียงราย ก็เพื่อสำรวจความพร้อมก่อนเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยจากการสำรวจครั้งนี้ ก็อยากให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมีความสะดวก ปลอดภัย มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้อย่างครอบคลุมมากกว่านี้

"เราเดินทางมาจากสนามบินครั้งนี้ ไม่ได้ใช้ช่องทางพิเศษ แต่ใช้ช่องทางปกติเหมือนประชาชน เพื่ออยากทราบปัญหาจริงๆ ว่า มีอะไรบ้าง ซึ่งก็พบว่ามีปัญหาการใช้แอปพลิเคชัน ที่มีหลายแอปฯ ทำให้ซ้ำซ้อน และเพิ่มภาระให้นักท่องเที่ยว รวมถึงเสี่ยงแพร่โรคระบาดด้วย เพราะนักท่องเที่ยวจะรวมตัวสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเข้าจังหวัด หรือแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน จะทำให้แออัดและมีการสัมผัสกันเกิดขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อด้วย" น.ส.กัลยา กล่าว

เมื่อถามว่า แอปพลิเคชัน ที่ยังซ้ำซ้อนกันอยู่ หน่วยงานใดควรเป็นผู้รับผิดชอบ น.ส.กัลยา กล่าวว่า เรื่องนี้มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงท่องเที่ยว รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ อีก ซึ่ง กมธ.ดีอีเอส กำลังจะเตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก หรือจะต้องมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ โดยมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน มาทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อจัดทำและบริหารจัดการแอปฯ เพื่อลดความยุ่งยาก เนื่องจากเราเปิดประเทศมีการเชิญชวนนักท่องเที่ยวมา ก็ควรได้รับความสะดวก ที่ใช้ฟอร์แมตเดียวแล้วจบ