“ชัยวุฒิ” รมว.ดิจิทัลฯ เผย ภูมิใจเคยเป็นส่วนหนึ่งในการอัญเชิญพระเกี้ยว เข้างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ฝากน้องๆ นิสิต คิดถึงคุณค่าและเกียรติภูมิ

จากกรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) โพสต์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ถึงแถลงการณ์คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ สรุปได้ว่า รูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน ซึ่งกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน โดยคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชนนั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 17.48 น. วันนี้ (24 ต.ค. 2564) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า พระเกี้ยว สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวนิสิตจุฬาฯ อันมาจากชื่อของมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย

หากสืบประวัติที่มาของประเพณีการอัญเชิญตราพระเกี้ยวเข้ามาในสนามแข่งขันนั้น น่าจะคล้ายเหมือนเป็นการเปิดงาน ซึ่งทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ส่วนจุฬาฯ เชิญตราพระเกี้ยว การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ

...

“ผมในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 มีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี ผมจำได้ดีว่าพวกเราทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ผมเชื่อมั่นว่านิสิตทุกคนที่อยู่ในงานมีความสุขและดีใจที่ได้มาร่วม แม้ว่าจะเป็นคนแบกเสลี่ยง เราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา

สังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมบางอย่างอาจต้องเปลี่ยน แต่คุณค่าของพระเกี้ยวสำหรับชาวจุฬาฯ ไม่เคยเปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ครับ และขอให้น้องๆ นิสิตจุฬาฯ ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมกันอย่างไร ก็ขอคิดถึงคุณค่าของพระเกี้ยว และเกียรติภูมิที่พวกเรายึดถือกันไว้ตลอดมา เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”