“กรไชย คล้ายคลึง” ผบช.ตำรวจไซเบอร์ เปิดข้อมูลหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีคนร้ายหักเงินออกจากบัญชีบัตรเครดิต-บัตรเดบิต พบคนร้ายมีอยู่ทั้งในและนอกประเทศ เชื่อมีคนไทยเกี่ยวข้องแน่นอน ตั้งข้อสังเกตยอดหักเงินแต่ละครั้งเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯและลีราของตุรกี ส่วนจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อสูงถึง 7.5 หมื่นราย
หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งหาเบาะแสรวมทั้งเส้นทางการเงินอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ หลังประชาชนถูกตัดเงินในบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรวมแล้วกว่าร้อยล้านบาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 20 ต.ค. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต. ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.สุรพล เปรมบุตร รอง ผบช.สอท. นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ผู้แทนศูนย์ประสานงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศแลหน่วยงาน ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการสืบสวนสอบสวน กรณีคนร้ายตัดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของประชาชนสร้างความเสียหายหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งแนวทางป้องกันปราบปราม
การรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการ
หลังการประชุมเสร็จสิ้น พล.ต.ท.กรไชยกล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้ ตำรวจเป็นฝ่ายสืบสวนสอบสวนหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังการนำเงินกว่า 130 ล้านบาท ออกไปจากระบบ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดหรือใช้ข้อมูลที่ได้มาจากตลาดมืดหรือไม่ ยังไม่เชื่อทั้งหมดว่าการกระทำครั้งนี้จะใช้บุคคลหรือระบบไซเบอร์กระทำ และไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้เข้าไปกดเว็บไซต์หรือกรอกข้อมูลต่างๆ ตำรวจต้องตรวจสอบให้ครบทุกมิติ ตลอดจนต้องพึ่งพาสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบหาเส้นทางการเงิน ขณะนี้สามารถตรวจสอบได้แล้วว่าเงินดังกล่าวมีใครนำออกไปใช้และนำไปใช้ในจุดใด นอกจากนี้ยังพบความเสียหายเกิดขึ้นแทบจะทุกวินาที อย่างเช่นในพื้นที่ สน.หนองแขม มีการก่อเหตุถึง 700 ครั้ง ยังไม่ทราบเกิดจากผู้ที่เล่นเกมออนไลน์ไปสั่งซื้อไอเท็มในเกมหรือไม่ อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบลงไปถึงจำนวนเงินที่เสียหาย พบแต่ละครั้งมักจะมีจำนวนที่ตรงกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินสกุลเงินลีรา ของประเทศตุรกี ขณะนี้มีกลุ่มผู้เสียหายเปิดเพจเฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเข้ามาแชร์ประสบการณ์หลังถูกก่อเหตุ พบจำนวนสูงถึง 75,000 ราย ทั้งที่ก่อเหตุเพียง 3 วันเท่านั้น
...
“สำหรับแผนประทุษกรรมของโจรไซเบอร์ครั้งนี้ ตำรวจต้องตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มคนร้ายทุกกลุ่ม ยืนยันไม่มีแก๊งใดมีโปรแกรมที่สามารถดูดเงินออกจากธนาคารได้ ตามข้อเท็จจริงแล้วเกิดจากการที่เหยื่อหลงเข้าไประบุข้อมูลส่วนตัว จากนั้นคนร้ายจะดึงข้อมูลไปใช้นำเงินในบัญชีของเหยื่อออกไป ปลายทางมักเป็นบัญชีของผู้ที่ถูกจ้างมาเปิดบัญชี เงินที่ได้เข้าบัญชีเป็นทอดๆจนถึงบัญชีสำคัญที่สุดคือบัญชีสุดท้าย ขณะนี้ตรวจพบบัญชีเหล่านี้อยู่ต่างประเทศ นอกจากนี้พบหลักฐานกลุ่มผู้ก่อเหตุมีทั้งอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ส่วนเซิร์ฟเวอร์จะตั้งไว้ในต่างประเทศ เชื่อว่ามีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน” พล.ต.ท.กรไชยกล่าว
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุว่าธนาคารจะยกระดับการดูแลบัญชีของลูกค้าให้เข้มข้นมากขึ้น เตรียมบล็อกร้านค้าที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกรรม รวมทั้งปรับมาตรการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บัตรเครดิตและเดบิตให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับหากจะให้แจ้งเตือน sms ในการทำธุรกรรมทุกบาททุกสตางค์เกรงจะรบกวนลูกค้ามากเกินไป มองว่าหากต้นทางของรายการใดผิดปกติก็ไม่ควรเรียกเก็บเงิน ยืนยันหากตรวจพบมีเหยื่อถูกกระทำลักษณะนี้ธนาคารจะคืนเงินให้ทั้งหมด ขณะนี้มีผู้เสียหายยื่นเรื่องกับทางธนาคารแล้ว 10,700 ราย รวมเป็นเงินที่ต้องคืนประมาณ 132 ล้านบาท
ด้านนายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานระบบชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าสำหรับผู้ที่มีแอปพลิเคชัน โมบายแบงกิ้งนั้น สามารถเข้าไปเรียนรู้การปรับวงเงินที่จะโอน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโจรกรรมเงินออกจากธนาคารโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเข้าไปปรับค่าให้เป็นศูนย์ หากต้องการใช้ในแต่ละครั้งให้เข้าไปปรับค่าตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งช่วยป้องกันได้อีกทางหนึ่ง แม้จะเป็นการไม่สะดวกในช่วงนี้
วันเดียวกัน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.ฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตร. หรือ PCT เปิดเผยความคืบหน้าและแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกคนร้ายตัดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรเดบิตว่า ภายหลัง จากมีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธปท. กสทช. ปปง. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย ได้ข้อสรุปดังนี้
1.ธนาคารจะรับผิดชอบเป็นผู้เสียหายเอง โดยคืนเงินให้กับประชาชนที่เสียเงินไปภายใน 5 วันทำการ นับแต่ธนาคารรับทราบเรื่องและจะรวบรวมพยานหลักฐานร้องทุกข์กับ บช.สอท. แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความไว้ก่อนแล้ว ตำรวจจะประสานโดยตรงกับธนาคารเอง
2.ปปง.เตรียมเปิดศูนย์ฮอตไลน์ 1710 ประสานงานใกล้ชิดระหว่างพนักงานสอบสวนกับธนาคารในการอายัดบัญชีคนร้าย เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชี
3.กสทช.จะประสานข้อมูลกับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อสืบหาข้อมูลคนร้าย
4.ดีอีเอสเป็นเจ้าภาพหลักในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมคนร้าย
5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ PCT เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการร่วมกับ บช.สอท. บช.น. บช.ภ. 1-9 เพื่อรวบรวมติดตามและเร่งรัดคดีจากทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมตั้งชุดสืบสวนสอบสวนออนไลน์แต่ละจังหวัดเพื่อสนับสนุนข้อมูลพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ ปัจจุบันคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางออนไลน์ทุกรูปแบบ ผู้เสียหายแจ้งความกับพนักงานสอบสวนทุกท้องที่ หากพบเบาะแสแจ้งได้ที่ สายด่วน 1599 ตลอด 24 ชม. หรือ www.pct.police.go.th หรือสายตรง 08-1866-3000 ในเวลาราชการ
...
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า จากการตรวจสอบพบช่องทางในแผนประทุษกรรมมีทั้งเครือข่ายมือถือและอินเตอร์เน็ตทั้งในและนอกประเทศ ส่วนร้านค้าที่มีการหักเงินส่วนใหญ่เป็นร้านค้าในต่างประเทศ ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าวว่า ในส่วนของนครบาลมีคำสั่งตั้ง พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น. ดูเรื่องการสอบสวนคดี ส่วนการติดตามตัวผู้กระทำผิดให้ บก.สส.บช.น.เป็นผู้รับผิดชอบ
มีรายงานว่า ภายหลังจากเกิดกระแสข่าวลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เกิดความแตกตื่นในเหตุดังกล่าว ต่างแห่มาถอนเงินออกจากบัญชีเป็นจำนวนมากนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังธนาคารพาณิชย์ ได้รับการยืนยันไม่ปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การทำธุรกรรมฝาก-ถอนเงินของลูกค้ายังเป็นไปตามปกติ