- เผยอันดับอาการส่วนใหญ่หลังฉีดวัคซีน ทั้งยี่ห้อเดียวกัน สูตรไขว้ และบูสเตอร์โดส
- พบแล้วรายแรก เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน หลังฉีดแอสตราเซเนกา มีภาวะ VITT
- ศบค. เผยแผนจัดหาวัคซีน 24 ล้านโดสใน ต.ค. พร้อมเดินหน้าฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 12 ปีขึ้นไป
หลายครั้งหลายคราที่มักได้รับฟังรับทราบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากการแถลงของแพทย์กระทรวงสาธารณสุข แต่ผลการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่เคยพบว่ามีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโควิด
นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ถึงประเด็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย. ว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 37 ล้านโดสเศษ โดยเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 36% เข็มที่ 2 อยู่ที่ 15% พร้อมเชิญชวนกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการฉีดวัคซีน
วัคซีนทุกยี่ห้อนั้นถึงฉีดครบโดสก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ถ้ามีภูมิคุ้มกันจะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) กับสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตา ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ยังช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้ 75% และวัคซีนยังจำเป็นต้องฉีดต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประสิทธิภาพลดลงจึงปรับสูตรวัคซีนเป็นซิโนแวค + แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และสูตรไขว้นี้มีประสิทธิผลค่อนข้างดีพอๆ กับการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม
...
สำหรับอาการ 3 อันดับแรกซึ่งพบมากที่สุดหลังฉีดวัคซีนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ของวัคซีนทั้ง 4 ยี่ห้อเป็นดังนี้
ซิโนแวค (ผู้ป่วย 2,411 ราย)
- เวียนศีรษะ 20.82%
- คลื่นไส้ 14.14%
- ปวดศีรษะ 13.85%
- มีรายงานแพ้รุนแรง 24 ราย คิดเป็น 0.16% ต่อแสนโดส (ทั้งหมดหายเป็นปกติ)
แอสตราเซเนกา (ผู้ป่วย 2,734 ราย)
- ไข้ 26.52%
- ปวดศีรษะ 24.98%
- เวียนศีรษะ 20.48%
- มีรายงานแพ้รุนแรง 6 ราย (ทั้งหมดหายเป็นปกติ) คิดเป็น 0.04% ต่อแสนโดส รายงานผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) 5 ราย คิดเป็น 0.03% ต่อแสนโดส
ซิโนฟาร์ม (ผู้ป่วย 154 ราย)
- เวียนศีรษะ 18.83%
- ปวดศีรษะ 15.58%
- อาเจียน 14.29%
ไฟเซอร์ (ผู้ป่วย 68 ราย)
- ไข้ 20.59%
- ปวดศีรษะ 17.65%
- อาเจียน 17.65%
- มีรายงานผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน 1 ราย คิดเป็น 0.11% ต่อแสนโดส (หายเป็นปกติ)
สูตรไขว้ ซิโนแวค เข็มที่ 1 แอสตราเซเนกา เข็มที่ 2 (ผู้ป่วยใน 289 ราย)
- ไข้ 30.10%
- ปวดศีรษะ 22.84%
- อาเจียน 20.42%
มีรายงานผู้เสียชีวิต 38 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 3 ราย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 3 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 32 ราย
ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราเซเนกา เข็มที่ 3 (ผู้ป่วยใน 88 ราย)
- ปวดศีรษะ 28.41%
- ไข้ 23.86%
- คลื่นไส้ 22.73%
มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 1 ราย
ซิโนแวค 2 เข็ม ไฟเซอร์ เข็มที่ 3 (ผู้ป่วยใน 18 ราย)
- ไข้ 33.33%
- อาเจียน 27.78%
- ปวดศีรษะ 27.78%
มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 2 ราย
...
ผลการพิจารณากรณีเสียชีวิต
ผลการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิต หลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลวันที่ 5 ก.ย. 2564 เวลา 16.30 น. รวมเสียชีวิต 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว 416 ราย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 249 ราย
- ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย
- เลือดออกในสมอง 26 ราย
- เว้นเลือดสมองอุดตัน 5 ราย
- ปอดอักเสบรุนแรง 69 ราย (ติดเชื้อโควิด 62 ราย)
- ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 3 ราย
- โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 64 ราย
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 19 ราย
- มะเร็งเต้านม 1 ราย
- มะเร็งท่อน้ำดี 1 ราย
- มะเร็งปอด 4 ราย
- ภาวะอื่นๆ
- เลือดออกในช่องท้อง 4 ราย
- ทานเห็ดพิษและตับวาย 2 ราย
- โรคอื่นๆ 25 ราย
- คาดว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนให้รอผลชันสูตร และข้อมูลเพิ่มเติม 24 ราย
...
เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 32 ราย
- โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 18 ราย
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย (ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา)
- เลือดออกในสมอง 2 ราย
- ระบบหายใจล้มเหลว 1 ราย
- รอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรศพ 9 ราย
เหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) หลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา
สรุปไม่ได้ 12 ราย และรอสรุปผลอีก 122 ราย
สำหรับในประเทศไทยพบผู้ป่วยสงสัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 5 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 26-76 ปี อยู่ในพื้นที่ กทม. 3 ราย นนทบุรี 1 ราย และนราธิวาส 1 ราย โดยหายเป็นปกติ 2 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ทุกรายมีประวัติอาการภายหลังได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก ช่วงระยะเวลาตั้งแต่รับวัคซีนถึงเริ่มมีอาการ 3-15 วัน
...
ในส่วนของข้อสรุปและคำแนะนำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) สามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว
- เมื่อเทียบกับประโยชน์ของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 และป้องกันความรุนแรงของโรคซึ่งมีมากกว่า จึงยังคงแนะนำให้ประชาชนรับวัคซีน
- ควรเพิ่มความตระหนักเรื่องภาวะ VITT ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การลดการเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว
- เพิ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการและยาสำหรับใช้ในการรักษา VITT ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสามารถทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องส่งต่อคนไข้ เพิ่มโอกาสในการรักษาและลดการสูญเสีย
- สำหรับประชาชน หากมีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออก ภายหลังได้รับวัคน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ควรนำบัตรนัดหรือบัตรฉีดวัคซีนไปด้วย หากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้
หากมีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการของโรคก่อนฉีดวัคซีนชิด mRNA (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา) พร้อมย้ำว่า อาการไม่พึงประสงค์ ไม่เท่ากับอาการข้างเคียง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากการฉีดวัคซีน จะเป็นทั้งอาการแพ้ ผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ได้ ถ้าภายใน 30 วันหลังการฉีดวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์รีบแจ้งแพทย์
“วัคซีนถ้าอยู่ในขวดจะไม่มีประโยชน์อะไร ต้องได้รับการฉีดเข้าไปในตัวคนถึงจะเกิดประโยชน์ในการป้องกันโรค อยากเชิญชวนกลุ่ม 60 ปี กลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รีบไปรับวัคซีน และถ้ามีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น อาการค่อนข้างรุนแรง ก็เตรียมบัตรนัดหรือใบรับรองการฉีดวัคซีนไปพบหมอด้วย จะได้ทราบและป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้”
พบแล้วรายแรกเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน
นายแพทย์จักรรัฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงกรณีผู้เสียชีวิตเข้าข่ายเป็น VITT ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า “เกี่ยวข้องกับวัคซีน” แต่ “ไม่ใช่เกิดจากวัคซีน” ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นหญิงอายุ 28 ปี อยู่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ไม่มีโรคประจำตัว เกิดอาการหลังรับวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มแรกไปได้ราว 6 วัน ไม่ใช่การแพ้วัคซีน ไม่ใช่อาการข้างเคียงจากวัคซีน แต่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและ “เป็นรายแรกที่เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีน ด้วยภาวะ VITT”
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ถ้ามีสาเหตุจากวัคซีนจะเป็น “อาการแพ้” และผู้เสียชีวิตหลายรายมีปัจจัยอื่นร่วมนอกเหนือจากวัคซีน เมื่อมารวมกันก็อาจจะทำให้เกี่ยวกับวัคซีน แต่ไม่ใช่สาเหตุจากวัคซีนโดยตรง ถ้าเป็นอาการแพ้คือจากวัคซีนโดยตรง
สูตรวัคซีนหลักจากนี้ SV + AZ?
วัคซีนสูตรไขว้ประเทศไทยเป็นคนเริ่มต้น โดยหลักการแล้วการฉีดวัคซีนไขว้ช่วยใช้เกิดประโยชน์มาก เพราะช่วยย่นระยะเวลา อย่างฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็มต้องห่างกัน 8-10 สัปดาห์ขึ้นไป แต่การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ทำให้มีระดับภูมิคุ้มกันโรคได้ภายใน 3-4 สัปดาห์เท่านั้น เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยทำให้การป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้รวดเร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้ตัวเรามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ต้องย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่า เพราะคนฉีดวัคซีนก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ยังเจออยู่เรื่อยๆ
การฉีดวัคซีนในช่วงนี้แต่จำเป็นต้องฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อลดการใช้เตียงอาการหนัก และการบริการด้านสุขภาพต่อเนื่องได้ กลุ่มถัดมาประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่อาจจะมีความเสี่ยง ก็เป็นกลุ่มที่อยู่ในลำดับที่ต้องฉีดต่อไป ถ้าวัคซีนมีเพียงพอจะมีการจัดสรรในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในคนในจังหวัดและประเทศ
ขณะที่เมื่อ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ก็มีการเปิดเผยแผนการจัดหาวัคซีนในเดือน ต.ค. 2564 ออกมา ซึ่งจะมีวัคซีนเข้ามารวม 24 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ (Pfizer) 8 ล้านโดส และยังมีวัคซีนทางเลือกอย่าง ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) อีก 6 ล้านโดส รวมถึงแนวทางที่เตรียมจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกลับมาเปิดเทอมด้วย
ส่วนวันที่ 11 ก.ย. 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อได้อยู่ในระดับที่ค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าประชาชนมีความร่วมมืออย่างดี เชื่อว่าสถานการณ์การติดเชื้อจะลดลงอีก และในเดือน ต.ค. นี้จะพยายามฉีดวัคซีนให้ได้ 24 ล้านโดส ตามวัคซีนที่จะเข้ามาตามแผนการจัดหา
“เดือน ต.ค. เราจะทำให้พี่น้องประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของประเทศได้รับวัคซีน 1 เข็ม และจะมีการเริ่มฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมถึงคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้วก็จะมีการกระตุ้นวัคซีนอีก 1 เข็มที่เรียกว่าบูสเตอร์โดส นี่คือสิ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะดำเนินการต่อไป”
เอาเป็นว่ารอติดตามกันต่อไป รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดหารวมถึงฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหรือไม่ก่อนเปิดประเทศตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หมายมั่นตั้งใจฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศในสิ้นปีต้องมากกว่า 50 ล้านคน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ.
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Chonticha Pinijrob