รมว.คมนาคม เฝ้าติดตามประเมินผลการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง "สายสีแดง" กำชับมาตรฐานการให้บริการทุกมิติ เตรียมพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
เมื่อวันที่ 27 ส.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 5/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 15.00 น. โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงานและผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดย นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แบบเสมือนจริง (Soft Opening) มาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณวันละ 3,073 คน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนงดการเดินทางหากไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาความตรงต่อเวลาและความน่าเชื่อถือในการให้บริการ พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 96.84 และ 99.35 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับการให้บริการเป็นที่น่าพอใจ และได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการในด้านต่างๆดังนี้
...
การเตรียมความพร้อมด้านการเดินรถ และการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง มีการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โดย ขบ.และ ขสมก.ได้ปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้มีรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 กรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และรถโดยสารประจำทางหมวด 4 รองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี ซึ่ง รวค.ได้มีข้อสั่งการให้วิเคราะห์ระบบการเชื่อมต่อ การให้บริการระบบขนส่งให้ครอบคลุม และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชน
การดำเนินการด้านสถานี โดย รฟท.ได้จ้างทำความสะอาดและกำจัดขยะบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดง พร้อมจ้างบริการรักษาความปลอดภัย และจราจรบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และบริเวณรถไฟฟ้าสายสีแดงจำนวน 12 สถานีเรียบร้อยแล้ว ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์นั้น ได้จัดทำประกาศเชิญชวนแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานเพื่อขออนุมัติออกประกาศเชิญชวน เสนอคณะอนุกรรมการกำกับการบริหารทรัพย์สินฯ และคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติออกประกาศเชิญชวนต่อไป นอกจากนี้ยังได้รายงานผลการสำรวจการจัดทำป้ายตามมาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานอารยสถาปัตย์ ณ สถานีกลางบางซื่อแล้ว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯได้รับทราบกรอบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้าในระยะยาว สำหรับสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีรังสิต สถานีตลิ่งชัน และจุดจอดรถอโศก พร้อมทั้งสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีเชียงรากน้อย สถานีวัดสุวรรณ และ ICD ลาดกระบัง โดยมอบหมายให้ รฟท.ไปศึกษาในรายละเอียดในการพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับทราบผลการดำเนินการโครงการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) ตามที่คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก จ.ปทุมธานี (อจร.จังหวัดปทุมธานี) ได้เห็นชอบแผนดำเนินการ ตามผลการศึกษาของ สนข.และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าการให้บริการในเส้นทางสายสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรี คลอง 7 จะสามารถเร่งรัดดำเนินการให้สามารถให้บริการได้ทัน กับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างเป็นทางการได้
ด้านการกำหนดราคาค่าโดยสารและบัตร ได้รับทราบผลการดำเนินงานในประเด็นหลัก ได้แก่ การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยได้มอบหมายให้ รฟท.พิจารณาค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินงานและพิจารณาผลประกอบการจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนในด้านความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐาน EMV รองรับการใช้งานในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry นั้น สามารถเปิดใช้ระบบการชำระค่าโดยสา รตามมาตรฐาน EMV ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ ภายในปลายปี 2564 รวมทั้งเปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในต้นปี 2565 และด้านบัตรโดยสารในการเดินทางร่วม ได้มอบหมายให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ประสานการหารือร่วมระหว่าง รฟท. ขสมก. จท. ผู้ให้บริการเรือโดยสาร รวมทั้ง รฟม. และ BEM เพื่อให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดโปรโมชั่นส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รถโดยสารประจำทางของ ขสมก. เรือโดยสาร และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานในด้านเทคนิคของบัตรโดยสาร และรูปแบบของข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกัน
โดยความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำบัตรโดยสาร ในการเดินทางร่วมกับรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.เพื่อชำระค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายเดือนในบัตรเดียวกันนั้น กำหนดให้บัตรดังกล่าวสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ในระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันแรกที่ใช้งาน ผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรโดยสารในการเดินทางร่วมได้ที่เขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด และห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง พร้อมทั้งสามารถเติมเงินเข้าบัตรได้หลายช่องทาง เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ตู้เติมเงิน รวมทั้งการเติมเงินผ่าน QR Code การเติมเงินที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ซึ่งการชำระเงินค่าโดยสารในการเดินทางนั้น ผู้โดยสารจะใช้บัตรดังกล่าว ชำระผ่านเครื่อง EDC บนรถเมล์ ขสมก. และแตะเข้า Gate ของสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งจะทำให้การใช้บัตรโดยสารร่วมดังกล่าว เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางเชื่อมต่อ
...
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ตนได้มอบนโยบายในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร สำหรับการให้บริการต้องคำนึงถึงค่าครองชีพของประชาชนในสภาวการณ์ปัจจุบัน และการชดเชยรายได้ของการเดินรถจากการบริหารเชิงพานิชย์ โดยจะต้องยึดแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวของประชาชน ลดการใช้พลังงาน และแก้ปัญหาการเกิดมลพิษ เช่น ฝุ่น PM2.5 และพิจารณาการกำหนดค่าแรกเข้าให้มีความเหมาะสม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารต่อไป
ด้านการพัฒนาสถานีกรุงเทพ คณะกรรมการฯได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และแผนการพัฒนาแนวพื้นที่ระหว่างสถานีบางซื่อถึงสถานีกรุงเทพ โดย รฟท.จะสำรวจรายละเอียดและตรวจสอบพื้นที่ รวมถึงอาคารที่จะต้องทำการอนุรักษ์ และจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ที่จะต้องสอดคล้องกับแผนการลดจำนวนรถไฟ ที่เข้าสู่สถานีกรุงเทพ แผนงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสอดรับกัน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้มีข้อสั่งการให้พิจารณาถึงการอนุรักษ์ความเป็นรถไฟไทยจากสถาปัตยกรรมเดิม และรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถนำมาบำรุงรักษาแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางรถไฟเดิมโดยการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะและร้านค้าชุมขน โดยเน้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร การให้บริการ หรือร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage : Bangsue Grand Station หรือ โทรสายด่วน 1690 เพื่อกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุดต่อไป
...