อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เผยสาเหตุถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ยัน ยังใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ตามแนวทางเดิม พร้อมย้ำกลุ่มคนป่วยแบบใดไม่ควรทาน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ส.ค. 2564 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ประเด็นถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจร ว่า อาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปพอสมควร โดยผลการวิจัยฟ้าทะลายโจรที่นักวิจัยซึ่งเป็นทีมงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำเสนอไปเพื่อรับการตีพิมพ์ แต่ระหว่างนั้นมีข้อขลุกขลักบางอย่าง จึงขอดึงข้อมูลกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องยิ่งขึ้น

ทีมวิจัยได้ตัดสินที่จะนำเสนอในรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อไปสู่วารสารในระดับนานาชาติ เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งอาการไม่รุนแรง และเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบกัน ซึ่งหลังได้ข้อมูลผลลัพธ์ก็มีการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการนำเสนอนโยบายและแนวทางปฏิบัติ แต่ระหว่างรอเอกสารตีพิมพ์ในวารสารวิชาการก็มีการเก็บข้อมูลในเชิงรายละเอียด จึงพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย สำหรับงานวิจัยตัวเลขเล็กน้อยเป็นเรื่องใหม่ นักวิจัยจึงดึงข้อมูลกลับ ไม่ใช่การถูกปฏิเสธจากวารสาร

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ยังไม่มียาตัวใดที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่า สามารถฆ่าไวรัสโคโรนา หรือรักษาโรคโควิด-19 ได้โดยตรง จึงมีการทดลองและเก็บข้อมูลการใช้ยาชนิดต่างๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษาโควิดได้ อาทิ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และไทยได้หยิบเอาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีคำตอบของห้องทดลองมาวิจัยกันต่อเนื่อง โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทดลองใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย พบแนวโน้มที่ได้ผลดี โดยเฉพาะลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนเกิดปอดอักเสบ

...

การทอดลองแบบสุ่มจะเป็นผู้ป่วยโควิดอาการเล็กน้อย อายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในขนาดที่มีการคำนวณมาแล้วสำหรับการรักษา ส่วนกลุ่มที่สองได้รับเม็ดยาเปล่าที่ไม่มีฟ้าทะลายโจร (ยาหลอก) ผลการทดลองพบว่า

1. ไม่พบอาการปอดอักเสบในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร 29 ราย แต่พบในกลุ่มยาหลอก 3 ราย จาก 28 ราย คิดเป็น 10.7% เมื่อคำนวณทางสถิติแล้ว โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติ ที่ p = 0.112 ตรงนี้คือจุดที่คำนวนผิดในการรายงานครั้งแรก ว่ามีนัยสำคัญที่ p = 0.03

ส่วนคำถามว่าสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในการตัดสินใจอื่นๆ หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อ เพราะความคลาดเคลื่อน ความแตกต่างของค่านัยสำคัญเพราะมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างค่อนข้างน้อย คือกลุ่มแรก 29 ราย กลุ่มที่สอง 28 ราย

2. ตรวจไวรัสคงอยู่ในวันที่ 5 กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร พบ 10 ราย จาก 29 ราย (34.5%) ส่วนในกลุ่มยาหลอกพบไวรัส 16 ราย จาก 28 (57.1%) จึงตอกย้ำความเป็นไปได้ที่ฟ้าทะลายโจรจะมีประสิทธิภาพในการรักษา

3. ผู้ที่มีปอดอักเสบ 3 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีการอักเสบเพิ่มขึ้น

4. การใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร “ไม่มีผลข้างเคียงต่อตับ ไต และระบบเลือด” สะท้อนถึงความปลอดภัยที่ไว้วางใจได้

โดยสรุปคือ ทีมนักวิจัยของไทยเป็นผู้ตรวจพบความผิดพลาดของสถิติหนึ่งจุดดังกล่าว และขอถอนงานวิจัยออกมาเอง ไม่ได้ถูกปฏิเสธหรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารการแพทย์ ผลการวิจัยและเนื้อหาเกือบทั้งหมดยังคงเป็นไปตามรายงานฉบับแรกที่ถอนกลับมา ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงตัวเลขให้ถูกต้องเรียบร้อยแล้วก็จะส่งกลับไปตีพิมพ์ที่วารสารเดิมต่อไป แปลว่าสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีแนวโน้มที่ดี ที่จะได้ผลในการป้องกันผู้ติดโควิด-19 ในระยะเริ่มต้นไม่ให้เกิดปอดอักเสบ และสามารถใช้งานต่อไปได้

พญ.อัมพร ระบุเพิ่มเติมว่า ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมานานแล้ว แต่เดิมใช้สำหรับการรักษาหวัด และการศึกษาอีกหลายชิ้นทำให้มีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ขยายคุณสมบัติของฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงเล็กน้อย และยังมีการศึกษาติดตามใช้กับผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

...

สำหรับคำถามว่าฟ้าทะลายโจรยังใช้รักษาโควิด-19 ได้หรือไม่ ชัดเจนว่าแนะนำให้รับประทานยาที่มีขนาดแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งทานวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ขณะที่ในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไปขนาดแอนโดรกราโฟไลด์ 3.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน (ไม่เกิน 180 มิลลิกรัมต่อวัน) แบ่งทานวันละ 3 ครั้ง และต่อเนื่อง 5 วันเช่นกัน

ข้อห้ามในการใช้ฟ้าทะลายโจรที่สำคัญ

  • ผู้แพ้ยาฟ้าทะลายโจร กินแล้วมีผื่นลมพิษ ปากบวม ตาบวม
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะทารกในครรภ์อาจได้รับผลกระทบอันตรายได้
  • หญิงให้นมบุตร ทารกที่ได้รับนมจากแม่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต แม้จะไม่มีรายงานที่สะท้อนว่าฟ้าทะลายโจรเป็นอันตรายต่อตับหรือไต แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีการกำจัดฟ้าทะลายโจรหรือยาอื่นใดออกจากร่างกายได้ช้า ทำให้มีการสะสมของยานาน อาจจะส่งผลรบกวนต่ออวัยวะต่างๆ หรือเป็นปัญหากับยาอื่นๆ ที่รับประทานได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังคือการใช้ร่วมกับยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต เพราะฟ้าทะลายโจรมีแนวโน้มทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ต้องระวังเป็นพิเศษ และรายงานให้แพทย์ทราบ ปัจจุบันมีผู้ได้รับฟ้าทะลายโจรกระจายทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย แต่ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุรไพร การใช้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัย

...

อย่างไรก็ตาม การดึงงานวิจัยกลับมานั้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้ฟ้าทะลายโจรหรือไม่ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตอบว่า “เราไม่ได้ต้องการให้มีการเชื่อมั่นในฟ้าทะลายโจรจนเกินความพอดี ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่ระมัดระวัง นี่ถือเป็นแรงกระตุกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ้าถามว่าการดึงงานวิจัยนี้กลับมาปรับปรุงจะหมายความว่าจะมีวิธีการใช้ฟ้าทะลายโจรแตกต่างจากเดิมหรือไม่ ณ เวลานี้ทุกอย่างยังคงเดิมในแง่ของทิศทางการใช้และการสนับสนุน ฟ้าทะลายโจรได้บรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักด้วยเหตุผลของงานวิจัยและการศึกษาหลายๆ ชิ้น กระบวนการดึงเข้าดึงออกนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบหรือเปลี่ยนแปลงคุณค่าความน่าเชื่อถือสำหรับคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ และการสนับสนุนในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือการสนับสนุนโดยกองทุนต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยใน Home Isolation หรือ Community Isolation ได้รับยานั้น ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม ขอให้มั่นใจ สบายใจได้”.