เมื่อวันที่ 6 ส.ค.64 นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19พบว่าขยะเศษอาหารลดลงกว่าในภาวะปกติ เมื่อเทียบปี 2562 ขยะเศษอาหารมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ48.18 แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือน เม.ย.63 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารอยู่ที่ร้อยละ 38.03 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.64 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารร้อยละ 46.88 และช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.64 มีสัดส่วนของขยะเศษอาหารร้อยละ 43.08 สัดส่วนดังกล่าวอาจมาจากความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละระลอกที่แตกต่างกัน เช่น มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้าน มาตรการปิดสถานประกอบการบางประเภท เป็นต้น
โดยเห็นว่าเมื่อมีการสั่งมารับประทานที่บ้าน ขยะจากเศษอาหารจะลดลงกว่าการรับประทานที่ร้าน อาจเนื่องมาจากหากรับประทานไม่หมดสามารถแช่ตู้เย็นเก็บอาหารไว้รับประทานในมื้อต่อไปได้ หรือสามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว แต่เศษอาหารยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในขยะที่ทิ้งไปกับรถขยะเพื่อกำจัด ซึ่งหากคัดแยกและใช้ประโยชน์ที่ต้นทางมากขึ้นจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดที่ปลายทางจำนวนมาก
นายวิรัตน์กล่าวว่า กทม.ได้กำหนดแนวทางการจัดการขยะไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ.2556-2575 มีเป้าหมายนำขยะมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทางเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 50 และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2575 ด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) ทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle)และกำจัดที่เหลือ (residues)