กระทรวงสาธารณสุข เปิดรับเจ้าหน้าที่ร่วม 50 ทีมภูมิภาค ลุยปูพรมตรวจเชิงรุกทั้ง กทม. 4-10 ส.ค. เร่งแยกผู้ติดเชื้อเข้าระบบ และฉีดวัคซีนในชุมชน

วันที่ 30 ก.ค. 2564 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการดูแลเชิงรุกในชุมชน ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันเรื่องสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

  • การใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาผู้ติดเชื้อ
  • การทำการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) CI รวมถึงจัดทีม CCRT (Comprehensive Covid-19 Response Team)
  • การนำวัคซีนโควิดไปฉีดตามชุมชนหรือบ้านของประชาชนโดยทีมเชิงรุก CCRT
  • การให้ยาในผู้ป่วยติดเชื้อไม่มีอาการ (Home Favipiravir) หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยหนักให้เร็วขึ้น โดยส่งถึงผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ไปแล้วมากมายในตอนนี้

นายแพทย์ยงยศ มองว่า 4 ข้อสำคัญนี้จะเป็นความหวังในการควบคุมโรคของประเทศ หรือกรุงเทพมหานคร พร้อมยอมรับว่าเตียงในระบบเต็มมาก แต่ก็ต้องยิ่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนให้มากที่สุดโดยใช้ ATK เมื่อเจอผู้ติดเชื้อก็ต้องแยกออกมาเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในรายที่มีความจำเป็น อาจจะราว 20-30% ของผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ต้องให้ยาอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง พร้อมดูแลโดยทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ และให้วัคซีนเชิงรุก

...

ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 2564 นอกจากนี้ ยังมีการเชิญชวนแพทย์ชนบท พี่น้องสาธารณสุข ที่อยู่ในภูมิภาค ให้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนักรบภูมิภาค ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ยากลำบากค่อนข้างสูงและปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพพื้นที่การทำงาน โดยตั้งเป้า 40-50 ทีม ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ทั้ง 69 ศูนย์ โดยมีภารกิจดัง 4 ข้อที่กล่าวไป

อย่างไรก็ตาม ทีมเชิงรุกที่มาร่วมปฏิบัติการนี้ตั้งเป้าว่าจะสามารถตรวจเชิงรุกได้อย่างน้อย 400,000-500,000 ราย และแยกผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 70,000-80,000 ราย เป็นความร่วมมือร่วมใจในการจัดการปัญหาในกรุงเทพฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทางกรุงเทพฯ ในการจัดเตรียมพื้นที่ ทีมฉีดวัคซีนเสริม ซึ่งทางกรุงเทพฯ ก็มีการจัดทีม CCRT ลงพื้นที่ต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์ แต่เนื่องจากปริมาณของประชาชนมีมาก จึงต้องมีทีมจากภูมิภาคเข้ามาเสริม โดยจะทำพร้อมกันทั้งกรุงเทพฯ เพื่อให้การควบคุมโรคดีขึ้น และชะลอการใช้เตียง รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ของสาธารณสุข ยืนยันว่าจะทำอย่างรวดเร็วตั้งใจเพื่อประเทศ.