สาธารณสุข สปสช. และ สพฉ. เผยขั้นตอนการประสานรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิดกลับภูมิลำเนา วอนใช้ระบบที่รัฐจัดให้ ปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย

วันที่ 24 ก.ค. 2564 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นการนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนา และเข้าสู่ระบบการรักษา ที่กระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงผู้ป่วยโควิด-19 ทำงานใน กทม. และอยากจะกลับไปภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โดยมอบหมาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและวางแผนนำส่งผู้ป่วยกลับด้วยความปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อในระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ ประชากรในกรุงเทพมหานคร มีประมาณ 8 ล้านคน และที่มาจากภูมิภาคมาอยู่ใน กทม. ประมาณ 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่ากลุ่มเหล่านี้อาจมีผู้ติดเชื้อที่จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา

ทั้งนี้ ผลจากมาตรการล็อกดาวน์มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาผ่านระบบ ศบค. ตั้งแต่ 19-22 ก.ค. 2564 รวม 504,241 ราย แบ่งเป็นดังนี้

19 ก.ค. 2564 63,512 ราย
20 ก.ค. 2564 191,535 ราย
21 ก.ค. 2564 150,410 ราย
22 ก.ค. 2564 98,784 ราย

คนกลุ่มนี้เป็นการเดินทางไปเอง จึงมีความกังวลว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย ทางรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการออกมาเพื่อความปลอดภัยและเมื่อไปถึงภูมิลำเนาจะได้รับการดูแลทันที โดยลงทะเบียนที่สายด่วน 1330 กด 15 หรือผ่านเว็บไซต์ จากนั้น สปสช. จะส่งมายังกระทรวงสาธารณสุข ประสานต่อไปยังสาธารณสุขจังหวัด ต่อด้วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อเตรียมการใช้รถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ซึ่งหลังจากประสานแล้วคาดว่าไม่เกิน 3 วันจะเดินทางไปถึงภูมิลำเนา ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่หากมีอาการหนักขึ้นระหว่างนี้ให้ติดต่อที่ สายด่วน 1330 หรือสายด่วน 1668

...

สำหรับการระบาดระลอกใหม่ มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางจาก กทม.และปริมณฑลกลับภูมิลำเนาซึ่งมีการประสานผ่านระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 31,175 ราย ซึ่งผู้ที่จะเดินทางประเมินแล้วต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อและต้องการกลับภูมิลำเนา เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด

ทางด้าน ทันตแพทย์อรรถพร กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งกำลังเพิ่มเป็น 2,100 คู่สาย หรือติดต่อทางเว็บไซต์ หรือการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งแสดงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดย สปสช. จะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น.

ขณะที่ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียว หากอาการรุนแรงจะส่งรถฉุกเฉินรับไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมแทน สำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถ บขส. และรถตู้ไว้บริการ ประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly) นอกจากนี้ มีการจัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง โดยรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน

“สพฉ. จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน เนื่องจาก กทม. มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก ช่วงที่ 2 คือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่ 3 คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ทั้งนี้ อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย”