“นพ.ยง” เผยแนวโน้ม “สายพันธุ์เดลตา” ระบาดทั่วประเทศ เฉพาะ กทม. พบแล้ว 70-80% เป็นไปได้คนเดียวพบติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ ชี้ ยังไม่พบไวรัส 2 ตัวแลกชิ้นส่วนจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่

วันนี้ (13 ก.ค. 2564) ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 และการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียว ว่า ธรรมชาติของไวรัส RNA มีการการกลายพันธุ์เป็นภาวะปกติ เป็นวิวัฒนาการของไวรัส ส่วนไวรัสที่เป็น DNA จะกลายพันธุ์น้อยกว่า เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ยังใช้วัคซีนเดิม

แต่ไวรัส RNA ทุกตัว พันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไวมาก ซึ่งโคโรนาไวรัสเป็นหนึ่งในไวรัส RNA จากสายพันธุ์อู่ฮั่น กลายพันธุ์มาจนเป็นสายพันธุ์ G สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ต่อมาเกิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่พันธุ์ง่ายและติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จึงแพร่กระจายจนกลบสายพัยธุ์อังกฤษ ส่วนประเทศไทยเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมาที่ จ.สมุทรสาคร เป็นสายพันธุ์ GH จากนั้นสถานบันเทิงช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่เข้ามาทางชายแดนกัมพูชา จนมาเป็นพันธุ์อินเดียในปัจจุบัน

“ปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าสายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่ ณ ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตาไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นเดลตาประมาณ 70-80% เรียบร้อยแล้ว แล้วก็มีแนวโน้มในที่สุดจะต้องระบาดทั่วประเทศ”

ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) หลบเลี่ยงหลีกหนีวัคซีนได้เก่งที่สุด ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดต่ำลงมาก แต่สายพันธุ์เบตามีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายได้น้อยกว่า สายพันธุ์เดลตาตอนนี้เรียกว่าครองประเทศไทยส่วนใหญ่ ณ วันนี้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีปริมาณไวรัสสูงมากในลำคอของผู้ป่วย แพร่กระจายง่าย โอกาสติดต่อระหว่างคนง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก จึงอยากให้ประชาชนตระหนักว่าสายพันธุ์เดลตา การหาไทม์ไลน์ ไล่ว่าติดจากใครจะยากขึ้นทุกที

...

“ทุกคนต้องปฏิบัติตัวเองอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัย ใส่หน้ากากอนามัย 100% จะ 1-2 ชั้นก็ตาม กำหนดระยะห่าง สุขอนามัยต้อง 100% สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันดีกว่าวัคซีนที่ฉีดอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนไม่ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วหรือกำลังรอที่จะฉีดวัคซีน การปฏิบัติตัวนี้สำคัญอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้ ในเรื่องการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนคนเดียวก็มีความเป็นไปได้ เช่น ถ้าในชุมชนนั้นมีไวรัส 2 สายพันธุ์ระบาดอยู่ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติของทางด้านไวรัส แต่สิ่งหนึ่งที่กลัวคือถ้าไวรัส 2 สายพันธุ์นี้เกิดแบ่งตัวใน 1 เซลล์เดียวกันแล้วอาจจะมีการแลกชิ้นส่วน เมื่อมีการแลกชิ้นส่วนจะเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมายังไม่พบการแลกชิ้นส่วน ยังไม่เคยมีรายงานที่เรียกว่า รีคอมบิเนชัน (Recombination) ของไวรัส คือไวรัส 1 ตัวประกอบด้วยชิ้นส่วนของไวรัส 2 ตัวที่มารวมกัน เช่น หัวอังกฤษ ตัวอินเดีย มาผสมกัน โดยปัจจุบันยังไม่มี ที่พบขณะนี้เรียกว่า Co-infection หมายถึงในผู้ป่วย 1 คนเจอไวรัส 2 ตัว แต่ไม่ใช่ 1 ตัวมี 2 สายพันธุ์ ถ้าเราแยกกักและทำให้ไวรัสหมดไปจากตัวปัญหาต่างๆ จะไม่เกิด

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ฝากทิ้งท้ายว่า โรคโควิด-19 จะยุติวิกฤติได้นั้น นอกจากการปฏิบัติตัวมีวินัยอย่างเคร่งครัดแล้ว วัคซีนจะเป็นอีกทางช่วยหยุดวิกฤติ ไม่ต้องถามว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ แน่นอนควรได้รับวัคซีนทุกคนถ้าเป็นไปได้ แต่เนื่องจากวัคซีนของเรามีปริมาณที่จำกัด จึงขอให้กลุ่มบุคลากรด่านหน้าหรือกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับเต็มที่ก่อน เมื่อมีวัคซีนมากพอก็จะไล่ตามลำดับลงไป แต่ในเด็กยังต้องรออีกระยะ เพราะโรคนี้ถ้าติดเชื้อในเด็ก ความรุนแรงของเด็กน้อยมาก โอกาสที่จะทำให้เสียชีวิต เกิดปอดบวม มีน้อยกว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมาก ซึ่งวัคซีนที่จะใช้ในเด็กจะต้องคำนึงความปลอดภัยสูงกว่าผู้ใหญ่.