"กรมขนส่งฯ" แจงผ่าน Clubhouse ปม "แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค" ยัน ปชช.ให้การตอบรับเรียกรถผ่านแอปฯ 97% ด้านผู้บริโภคชี้ ช่วยเพิ่มทางเลือก-ประโยชน์กับประชาชน

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยในเสวนาหัวข้อ "แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค" ผ่านแอปพลิเคชัน Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 มิ.ย.64 ว่า ที่ผ่านมา ขบ.มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของรถแท็กซี่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสะดวกสบายกับผู้โดยสาร โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับรถแท็กซี่ ปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว 

ทั้งนี้ จึงเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดในรถแท็กซี่ และนำมาพัฒนาแอปพลิเคชัน TAXI OK พร้อมเตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้รถแท็กซี่ เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอสที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยเหตุผลด้านการเมืองในขณะนั้น จึงทำให้กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ จึงทำให้กลายเป็นภาระต้นทุนของผู้ขับรถแท็กซี่

ขณะเดียวกันจากนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการช่วยแท็กซี่ หาทางยกระดับมาตรฐานแท็กซี่ และลดภาระต้นทุนโดยได้ขยายอายุการใช้งานรถแท็กซี่ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี และเข้มงวดในการตรวจสภาพรถแท็กซี่ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงให้กรมการขนส่งทางบกพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมากำกับติดตามรถ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แท็กซี่ใช้งานฟรี ลดต้นทุนค่าจีพีเอสให้กับแท็กซี่ รวมถึงเปิดโอกาสให้โฆษณาบนแท็กซี่ และเพิ่มค่าบรรทุกสัมภาระสำหรับรถแท็กซี่สนามบิน รวมถึงมาตรการเปิดรับผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน

...

แต่การเปิดให้แท็กซี่รับผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันของภาคเอกชนที่ผ่านมา แม้จะได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้โดยสาร แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายใดๆ เข้ามารองรับหรือควบคุมกำกับดูแล ทำให้เกิดปัญหา เช่น การเก็บค่า GP แพง การคิดอัตราค่าโดยสารโดยไม่มีการควบคุม ดังนั้น นายศักดิ์สยาม จึงเร่งรัดให้ผลักดันกฎหมายกำกับดูแลรถแท็กซี่บุคคลเรียกผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้มีเครื่องมือในการกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้เสนอ (ร่าง) กฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ซึ่งหลักการสำคัญ คือ ให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาใช้ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสาร หรือเป็นแท็กซี่ประเภทหนึ่ง โดยจะต้องมีการทำประกันภัยสาธารณะ, ผู้ขับรถจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ, มีการสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ตัวรถต้องตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับรถแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้มีการศึกษาอย่างดีว่า ในหลายประเทศก็มีการกำหนดกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับของไทย คือ กำหนดให้รถแท็กซี่บุคคลเหล่านี้ ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ก็ต้องมีการขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกและสวนดุสิตโพล ยังได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บริการรถส่วนบุคคลเรียกผ่านแอปพลิเคชั่นของประชาชน พบว่า ประชาชนที่ทำการสำรวจให้การตอบรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่า 97% กรมฯจึงมองว่าจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ได้หาแนวทางช่วยเหลือแท็กซี่มิเตอร์ ที่จะได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยกระดับบริการขนส่งสาธารณะ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชนในยุคดิจิทัล และสอดคล้องกับแนวทาง Sharing Economy หรือการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ ตามแนวทาง Sharing Economy ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ได้วางหลักเกณฑ์ในการดูแลให้ความเป็นธรรมกับแท็กซี่ทุกประเภท 

สำหรับกรณีต้นทุนของรถแท็กซี่ป้ายดำที่ต่ำกว่าแท็กซี่มิเตอร์ ชี้แจงว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก กำลังเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนที่แตกต่างกันของแท็กซี่ทั้ง 2 รูปแบบ สิ่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ การสนับสนุนให้เกิดการขนส่งผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการหาแนวทางให้แท็กซี่ป้ายเหลืองที่ใช้แอปพลิเคชัน สามารถเก็บเงินค่าโดยสารได้ตามที่แอปพลิเคชัน คำนวนได้เลยในลักษณะเดียวกับรถแท็กซี่บุคคล ไม่ต้องเก็บตามเลขมิเตอร์แล้วบวกเพิ่ม 20 บาท ซึ่งอาจเป็นการทำให้แท็กซี่ป้ายเหลืองรู้สึกว่าเสียเปรียบในแง่ของรายได้ และยังมีความยืดหยุ่นในการให้บริการมากขึ้น

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการพิจารณาเกณฑ์การจดทะเบียนรถแท็กซี่ใหม่ โดยอาจไม่กำหนดขนาดรถยนต์ที่ใช้เป็นแท็กซี่มิเตอร์ว่า จะต้องเป็นรถขนาดกลางขึ้นไป เพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น และมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับรถแท็กซี่บุคคล เบื้องต้นอาจมีการกำหนดให้มีรถแท็กซี่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รองรับความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความเป็นธรรมด้านต้นทุนของแท็กซี่ทั้ง 2 แบบให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด 

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การมีแท็กซี่บุคคลเรียกผ่านแอปฯ ที่ถูกกฎหมาย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการขนส่งสาธารณะให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน ขณะเดียวกันก็เห็นใจกลุ่มแท็กซี่มิเตอร์ ที่ขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีผู้โดยสารและขาดรายได้ ทำให้การผลักดันเรื่องแท็กซี่บุคคลผ่านแอปพลิเคชันคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ทั้งนี้มองว่าเรื่องสำคัญ คือ การทำให้กติกาต่างๆ มีความเท่าเทียม และเป็นธรรม โดยเฉพาะแท็กซี่ทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งในเรื่องโครงสร้างต้นทุน และการกำกับดูแลจากรัฐที่เท่าเทียมกันระหว่างแท็กซี่มิเตอร์ดั้งเดิม และแท็กซี่ส่วนบุคคลเรียกผ่านแอปฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้แท็กซี่ทั้ง 2 ประเภท สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

ขณะที่ นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ กล่าวว่า แท็กซี่ส่วนบุคคลเรียกผ่านแอปฯ ได้เข้ามาให้บริการโดยผิดกฎหมายมานานกว่า 5 ปีแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบก และตำรวจ ก็ยังไม่สามารถนำกฎหมายมาควบคุมเอาผิดได้ ทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายมารองรับ เพื่อให้สามารถควบคุมรถแท็กซี่ป้ายดำได้ แต่การเห็นชอบ (ร่าง) กฎกระทรวงฯดังกล่าว และนำมาบังคับใช้ในช่วงเวลานี้มองว่าไม่เหมาะสม และรู้สึกเหมือนถูกรังแก เพราะขณะนี้แท็กซี่มิเตอร์ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19

...

โดยแท็กซี่ในระบบที่มีอยู่กว่า 100,000 คัน เหลือวิ่งรับผู้โดยสารจริงไม่ถึง 30,000 คันเท่านั้น ที่เหลือต้องจอดทิ้งเพราะไม่มีผู้โดยสาร และหากในอนาคตแท็กซี่มิเตอร์ป้ายเหลืองต้องหมดไป เพราะแข่งขันในตลาดไม่ได้ แล้วผู้โดยสารที่ใช้แอปฯ ไม่เป็นจะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังไม่เชื่อมั่นในกลไกการควบคุมแท็กซี่ป้ายดำของรัฐบาลว่า จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันมองว่าหากมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกำหนดอัตราค่าโดยสาร แล้วแท็กซี่ยังจำเป็นต้องมีมิเตอร์อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้แท็กซี่ทั้ง 2 รูปแบบนี้อยู่ด้วยกันได้ จำเป็นต้องจัดการต้นทุนค่ารถ และ ค่าโดยสารให้เกิดความเป็นธรรมเท่าเทียม อาจปรับเงื่อนไขกฎหมายของแท็กซี่ดั้งเดิมให้แข่งขันได้ ส่วนตัวมองว่า 90% ของแท็กซี่มิเตอร์ดั้งเดิม เข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน และไม่ได้ปฏิเสธการใช้งาน เพียงแต่คัดค้านเรื่องของรถที่จะนำมาให้บริการ ควรเป็นรถป้ายเหลืองที่ถูกกฎหมายเท่านั้น

ด้าน นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวว่า สมาคมฯ จะเดินหน้าคัดค้านและอุทธรณ์มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมานั้น ผิดและขัดต่อพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ห้ามเด็ดขาดการเอารถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้าง ซึ่งแม้ภายหลังจดทะเบียนก็ยังให้ใช้ป้ายรถยนต์ส่วนบุคคล จึงเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภทผิดกฎหมาย โดยสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ จะมีการหารือกับเลขานุการนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขออุทธรณ์มติ ครม.ดังกล่าวอีกครั้ง

นายชัยรัตน์ พรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองตรวจการขนส่งทางบก เปิดเผยสถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2562 และ 2563 พบว่าข้อร้องเรียนที่มีมากที่สุดคือการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร รองลงมาคือใช้วาจาไม่สุภาพ และขับรถประมาทหวาดเสียว ไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง แต่ในปี 2564 สถิติการร้องเรียนลดลงจากปัญหาโควิด-19 และข้อร้องเรียนเรื่องการขับรถประมาทหวาดเสียว กลายเป็นข้อร้องเรียนที่มากที่สุด รองลงมาคือการใช้วาจาไม่สุภาพ และการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร

...

ส่วนการดำเนินการกับรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาในปี 2562-ปัจจุบัน กองตรวจการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ทำการจับกุมรถดังกล่าว ข้อหา ผิด พ.ร.บ.รถยนต์ โดยการใช้รถผิดประเภท ดำเนินการเปรียบเทียบปรับรายละ 2,000 บาทไปแล้วเกือบ 2,000 ราย ขณะเดียวกันยอมรับว่า ที่ผ่านมา กฎหมายไม่ได้ออกแบบมารองรับบริการรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดช่องว่างในการใช้กฎหมายกำกับดูแล ซึ่งได้พยายามหาข้อกฎหมายในการเอาผิด โดยตั้งแต่ปี 62-64 ได้แจ้งความเอาผิดบริษัทแอปฯเรียกรถส่วนบุคคลแล้ว 8 คดี และดำเนินการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 4 คดี ยังเหลือระหว่างดำเนินการ 4 คดี ซึ่งหากมีกฎหมายมากำกับดูแลโดยตรงก็จะมีเครื่องมือในการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น

ด้าน นายไบรอัน ตริยถาวรวงศ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บอนกุ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ปัญหาการธุรกิจขนส่งทั้งหมดต้องแก้ด้วยเทคโนโลยี เช่น ปัญหาด้านความปลอดภัย และการเพิ่มจำนวนลูกค้าให้กับแท็กซี่ ซึ่งก็มีการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ โดยภาครัฐจะเข้ามาควบคุมมาตรฐานการบริการ คุมค่าโดยสาร ดูแลความปลอดภัย และกำกับกฎเกณฑ์ต่างๆ กับบริษัทที่เข้ามาเพื่อให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย