วันที่ 2 มิ.ย. ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดอว. และคณะผู้บริหาร อว. ตรวจเยี่ยมศูนย์รับวัคซีนโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มี รศ.เกศินี วิฑูรชาติอธิการบดี มธ. และ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต้อนรับ ศ.ดร.เอนก เปิดเผยว่า เรื่องวัคซีนรัฐบาลไม่ได้นิ่งดูดาย ทุกอย่างไม่ได้มาได้อย่างฉับพลันตามที่ใจเราต้องการ แต่ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนมาแน่ 7 มิ.ย.ได้ฉีดแน่ ทุกยี่ห้อดีหมด จากนี้ไปถ้าเปรียบเทียบเป็นการรบก็คือช่วงของการรุกโดยการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วและมากที่สุดเพื่อที่เราจะรบชนะในสงครามไวรัสครั้งนี้ให้ได้ ทั้งนี้ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทำ รพ.สนาม ขั้นต่อมาก็คือการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน โดยมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆของ อว.พร้อมเข้ามาทำเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ

ด้าน ศ.ดร.สุรพลกล่าวว่า มธ.เกิดขึ้นจากความเดือดร้อนของประชาชน จึงพร้อมเสมอในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน หากจะรบให้ชนะได้คือ การระดมฉีดวัคซีนให้คนไทยได้มากที่สุด ธรรมศาสตร์จึงจัดตั้งศูนย์รับวัคซีนขึ้น รับได้จำนวน 2,000 คนต่อวัน ถือเป็นอันดับ 2 ของ ประเทศรองจากบางซื่อ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ดังนั้นการประกาศเปิดศูนย์รับวัคซีน จึงเป็นการบันทึกหมุดหมายอีกหน้าหนึ่งของธรรมศาสตร์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้ประชาชนตามความตั้งใจของผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ศบค.ได้เห็นชอบให้ อว.จัดตั้งหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนส่วนกลางจำนวน 11 หน่วย ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ให้กับอว. แล้ว จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัด อว.ได้ทำงานและประสานงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีโรงพยาบาลเป็นหน่วยฉีดวัคซีน เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นหน่วยฉีดวัคซีนของจังหวัดเช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ราชนครินทร์ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.เพชบูรณ์ เป็นต้น.

...