“ดิเรก อิงคนินันท์” อดีตประธานศาลฎีกา และ “ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม” อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ แจ้งความกองปราบฯ ดำเนินคดีเว็บไซต์ Law360.com ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้โพสต์ข่าว ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และข้อหาอื่นที่ตรวจสอบพบ กรณีถูกกล่าวหาพัวพันสินบนบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ฯ ยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องดังกล่าว ด้านสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ โร่แจ้งความตำรวจ สน.ห้วยขวาง ดำเนินคดีเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน หลังถูกพาดพิงเป็นตัวกลางติดสินบนผู้พิพากษา ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะถอนตัวจากการเป็นทนายความให้บริษัทโตโยต้าฯ ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.62 ก่อนศาลอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาคดี

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 พ.ค. นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา พร้อมด้วยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ผู้ถูกพาดพิงจากการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ (www.law360.com) ที่รายงานข่าวติดตามการสอบสวนในต่างประเทศเกี่ยวกับคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าว่า จ่ายสินบนให้สำนักงานกฎหมาย และปรากฏชื่อ 3 ผู้พิพากษากำลังถูกตรวจสอบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เดินทางเข้าแจ้งความ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. และทีมพนักงานสอบสวน กก.1.บก.ป.ให้สืบสวนสอบสวนเว็บไซต์ต่างประเทศดังกล่าว และเว็บเพจในประเทศไทยอีก 1 เพจ ถ้าพบความผิดให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายดิเรก อิงคนินันท์ กล่าวก่อนให้ถ้อยคำตำรวจสั้นๆว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่เมื่อมีข่าวและได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และพร้อมให้ถ้อยคำวันนี้ ด้านนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม กล่าวว่า วันนี้นำข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวที่กล่าวหา พร้อมนำเอกสารซึ่งเป็นสำเนาคำพิพากษาที่ให้โตโยต้าแพ้คดีมายื่นเป็นหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำด้วย ต่อมาผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกาทางโทรศัพท์ว่า ในส่วนของตนมอบ อำนาจให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ตรวจสอบ และดำเนินคดีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว ยื่นเรื่องไปทางอีเมลและจะส่งหนังสือตามไป เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ดูแลผู้พิพากษาที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่แล้ว

...

ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม เผยว่า หลังจากนี้จะให้ พ.ต.ต.หญิง พรพิมล ดอกไม้ สว. (สอบสวน) กก.1 บก.ป. สอบปากคำนายดิเรกและนายชัยสิทธิ์ ถูกพาดพิงจากข่าวที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่างประเทศ law360.com มีเนื้อหาว่า มีผู้พิพากษา 3 คน มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีภาษีของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการจ่ายสินบนให้สำนักงานกฎหมายและผู้พิพากษาทั้ง 3 คน ดังที่กล่าวมาข้างต้น อดีตผู้พิพากษาทั้ง 2 ท่านนำภาพและเนื้อหาในเว็บไซต์ ลิงก์เว็บไซต์ และไอพีแอดเดรสที่ปรากฏมามอบให้พนักงานสอบสวนเป็นพยานหลักฐานการสืบสวนสอบสวน เพื่อเอาผิดกับเว็บไซต์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้โพสต์ข่าวดังกล่าว ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากนี้จะตรวจสอบว่า คดีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นคดีที่กองปราบปรามสามารถรับทำคดีได้หรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร กองปราบปรามสามารถสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดที่แท้จริงได้ คาดว่าใช้เวลาพิจารณาพยานหลักฐานและคำให้การของผู้แจ้งอีกสักระยะ

ต่อมาเวลา 16.45 น. หลังเสร็จสิ้นการให้ปากคำนานร่วม 3 ชม. นายดิเรกเผยว่า มอบหมายให้พนักงานสอบสวนกองปราบฯเป็นผู้พิจารณาเรื่องการดำเนินคดีและข้อหาต่างๆ เบื้องต้นมองว่าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ส่วนกรณีที่เว็บไซต์ law360.com กล่าวพาดพิงว่า เข้าไปมีส่วนร่วมรับสินบนคดีบริษัทโตโยต้าฯยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่คดีดังกล่าวจะมีคำพิพากษาทั้ง 2 ศาล ขณะนั้นอยู่ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และไม่ได้เป็นผู้พิจารณาหรือเกี่ยวข้องกับคดี รวมไปถึงการวิ่งเต้นต่างๆ ข่าวดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะไม่ได้ทำผิดและรับสินบนใคร

ที่ สน.ห้วยขวาง นายทรงพล อันนานนท์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ นำเอกสารหลักฐานพบ พ.ต.อ.ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผกก.สน.ห้วยขวาง และ ร.ต.อ.ปภิณวิช เสนาแปลง รอง สว. (สอบสวน) สน.ห้วยขวาง แจ้งความดำเนินคดีบุคคลที่ใช้ชื่อ Frank (Frank G. Runyeon) เจ้าของบทความในเว็บไซต์ Law360.com ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นายทรงพลกล่าวว่า วันนี้เข้าแจ้งความเจ้าของบทความที่พาดพิงสำนักงานทนายความของตนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องการติดสินบนผู้พิพากษาระดับสูงของศาลฎีกา เพื่อหวังพลิกคดีการเสียภาษี 1.1 หมื่นล้านบาท ของบริษัทโตโยต้าฯ ขอชี้แจงว่า สำนักงานทนายความของตนไม่ได้เป็นไปตามบทความที่พาดพิง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแล้ว

นายทรงพลกล่าวต่อว่า ยอมรับว่าสำนักงานกฎหมายของตนทำคดีดังกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ในชั้นศาลฎีกาสำนักงานไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการทำคดี อีกทั้งยื่นคำร้องถอนตัวจากการทำคดีนี้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 รับฎีกาคดีดังกล่าว นอกจากนี้ หลังเกิดเรื่องสำนักงานไม่ได้ติดต่อผู้พิพากษาระดับสูงทั้ง 3 คน และยืนยันว่าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ส่วนการดำเนินคดีเจ้าของบทความอาจอยู่ต่างประเทศ เบื้องต้นพิจารณาใน 2 ข้อหาคือ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามหลักกฎหมายสามารถดำเนินการได้ในประ-เทศไทย ส่วนที่ว่า Frank จะมีตัวตนจริงหรือไม่เป็นหน้าที่ของตำรวจ ตนมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของสำนักงานอย่างมาก ที่สำคัญยังส่งผลต่อภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ออกหนังสือแถลงการณ์ พร้อมแนบใบคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ มีรายละเอียดดังนี้ ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ จนสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ แถลงการณ์ฉบับนี้สำนักงานขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า สำนักงานยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความต่อศาลภาษีอากรกลางและหยุดปฏิบัติหน้าที่ฐานะทนายความบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.62 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำร้องขอถอนตัวจากการเป็น ทนายความที่แนบท้ายคำแถลงการณ์นี้ ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.64 อนุญาตให้รับฎีกาของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไว้พิจารณา ดังนั้น สำนักงานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในคดีตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.62 สำนักงานขอยืนยันความบริสุทธิ์และขอใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จทั้งในและต่างประเทศมา ณ ที่นี้

...

ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เผยว่า กรณีสำนักงานศาลยุติธรรมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการต่อข้อกล่าวหา กรณีภาษีอากรที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์รวม 10 คน มีนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและดำเนินการให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่สังคม และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้าในต่างประเทศ ที่พาดพิงถึงบุคลากรในศาลยุติธรรม คณะทำงานดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ เช่น หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.) นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2543 ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 4 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ มีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ เป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการ ศาลยุติธรรม (ก.ต.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย 2544 ออกตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ ให้เสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ ให้เสนอความเห็นว่า กรณีมีมูลเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากมีมูลความผิดทางวินัยให้พิจารณาด้วยว่า เป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใดและควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป หากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

...

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า ศาลยุติธรรมจะแสวงหาทุกข้อเท็จจริง และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ จะทำทุกทางพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏอย่างชัดเจนเร็วที่สุด หากพบว่าคนของศาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับใด แต่หากไม่เป็นความจริงจะเป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของทุกท่านกลับคืนมา ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้ประชาชนยังคงความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันศาลยุติธรรมต่อไป ระบบการตรวจสอบของศาลยุติธรรมมีความเข้มแข็งและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา หากผู้พิพากษาคนใดมีพฤติการณ์ทุจริต เกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดเสมอ สามารถตรวจสอบได้

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 1 ใน 3 ที่ถูกพาดพิงถึงกรณีสินบนโตโยต้า ถามว่าการตั้งกรรมการชุดนี้จะกระทบถึงเกียรติศักดิ์ของท่านหรือไม่ นายสไลเกษ กล่าวว่า เท่าที่ทราบเป็นการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าเกิดอะไรขึ้น ถามว่าเสื่อมเกียรติหรือไม่ที่จะถูกสอบ ตนไม่ห่วงเพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยในแง่ของข้อเท็จจริง ดังนั้น เราไม่ต้องกลัวอะไร ขอให้ทำความจริงให้ปรากฏ เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นการสอบข้อเท็จจริงไม่ถึงกับสอบวินัย แต่เวลาตั้งกรรมการตอบอะไรก็ตามควรระบุให้ชัดเจนว่า กรรมการชุดนั้นชุดนี้มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง อย่างคณะกรรมการที่มีนายพงษ์เดช เลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นประธาน จะต้องบอกให้ชัดเจนว่า มีอำนาจทำอะไร ตนทราบมาว่า ในส่วนชุดนายพงษ์เดชขอข้อเท็จจริงจากทางสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตไทยไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในชั้นที่โจทก์ยื่นขออนุญาตฎีกาขณะนั้นท่านเป็นประธานศาลฎีกาใช่หรือไม่ นายไสลเกษ ตอบว่า ตอนนั้นตนเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ มีการจ่ายสำนวนเข้าแผนกและในชั้นนั้น ยังไม่มีอะไรที่สะดุดหรือมีอะไรต้องตรวจสอบ ดังนั้นสำนวนจึงไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของตน ขอตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้เป็นกระบวนการที่ต้องการดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย และขอตั้งข้อสังเกตคือการที่คนได้รับข่าวสารมาโดยไม่ตรวจสอบและไม่มีสติ แล้วกลับไปซ้ำเติมเผยแพร่ข้อมูลทำให้คนอื่นเสียหาย จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและตนถือว่าเป็นผู้เสียหายในทางอาญา มอบอำนาจให้เลขาธิการศาลยุติธรรมเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีคนที่ทำให้ตนเสียหายแล้ว

...