ผู้เชี่ยวชาญเตือน 10 วันอันตราย มวลน้ำก้อนใหญ่ จากนครสวรรค์เคลื่อนตัวถึงกรุงเทพฯ 28-30 ต.ค.นี้กรุงเทพฯฝั่งตะวันตก ในเขตธนบุรีและทวีวัฒนามีสิทธิ์น้ำทะลักท่วม ส่วนด้านตะวันออกของกรุงเทพฯโดยเฉพาะรังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อาการจะหนักหากน้ำข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้
“สุวรรณภูมิ” ย้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมสนามบินมั่นคงแข็งแรงสามารถรับสถานการณ์ได้ ทางหลวงแผ่นดินผู้คนสัญจรไม่ได้ 75 สายทางทั่วไทย ส่วนถนนทางหลวงชนบทพังยับกว่า 800 สายทางทั่วไทย เสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท กรุงเทพฯ ยังลุ้นระทึกว่าจะกลายเป็นเมืองบาดาลเฉกเช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลยังสู้ไม่ถอย ในการที่จะสกัดกั้นน้ำไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร พร้อมจัดมาตรการช่วยเหลือเรื่องเงินแก่ผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นแล้ว
ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 09.30 น. วันที่ 17 ต.ค. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ ศปภ. กล่าวถึงแนวคิดในการใช้ไม้ไผ่ทำแพบรรทุกสิ่งของ ว่า ขณะนี้บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูง ขาดแคลนเรือถึง 70,000 ลำ จึงได้สั่งการให้นาย ดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นแพเพื่อแจกจ่ายประชาชน เชื่อว่า ภายในวันที่ 18 ต.ค. จะสามารถนำมาแจกจ่ายประชาชน ได้ประมาณ 10,000 ลำ โดยจะแจกจ่ายให้ครัวเรือนละ 1 ลำ ในการใช้วางสิ่งของเครื่องใช้ โครงการนี้แว่บขึ้น มาในสมองไม่ค่อยเต็มสติของผม ซื้อก็ไม่มี เพราะไม้ไผ่ มีอยู่ในป่า อย่างไรก็ตัดไม่ได้ ดังนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯจะต้องเป็นคนหา เพราะมีมากที่บริเวณ จ.กาญจนบุรี เชื่อว่าอธิบดีกรมอุทยานฯกำลังออกแรงแล้ว ตัดๆขนมาแจก ฉะนั้นแต่ละบ้านจะมีแพแจกฟรี ไม่เสียเงิน แพไม่ได้ทำไว้ให้คนนั่งแบบเรือ แต่เอาไว้ใส่สิ่งของและเด็ก ซึ่งมีขนาดกว้าง 1 วา ยาว 1 วา หากอยากได้ขนาดใหญ่ก็นำแพมาต่อกัน
เตือนประชาชนให้อพยพหนีลูกเดียว
นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.นั้น คิดว่าจะต้องเฝ้าระวังอีกประมาณ 1 เดือน เราได้มีการทำเขื่อนดินทั้งสูงและต่ำ และใช้กระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ ซึ่งเมื่อถูกแช่นานๆจะเปื่อย ต่อมาก็พัง ดังนั้น เอาเป็นว่าพวกเราอย่าท้อแท้ อย่าตกใจ และ อย่าประมาท ตนเป็นผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยคนแรก ถูกสอนมาให้บอกประชาชนว่าภัยธรรมชาติห้ามสู้ ภัยธรรมชาติมาต้องหนีลูกเดียวเพื่อความปลอดภัย สำหรับบริเวณรอบพื้นที่ กทม. ที่เป็นพนังกั้นน้ำ ทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก มีปริมาณน้ำเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนพื้นที่ชั้นในตนคิดว่าไม่เป็นอะไร จะกระทบก็จากน้ำฝนเท่านั้น ใครที่อาศัยอยู่รอบๆ กทม.ให้เตรียมตัว ระมัดระวังข้าวของ หากขนขึ้นที่สูงได้ก็ควรทำ นำรถยนต์ไปหาที่จอดใหม่ในสถานที่ที่จอดได้ เช่น บนทางด่วน ถือว่าตอนนี้ต้องเสียสละ
ดำรงค์สั่งผลิตแพไม้ไผ่หมื่นลำช่วยน้ำท่วม
ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศผลิตแพไม้ไผ่ จำนวน 1 หมื่นลำ ไว้แจกจ่ายให้ ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากขณะนี้เรือที่จะสัญจรไปมาขาดแคลน โดยตัวแพจะใช้ไม้ไผ่เอาเชือกผูกติดกัน มีขนาด 1×1.5 เมตร ด้านล่างใช้ถังน้ำมันขนาด 20 ลิตร รองรับเอาไว้ รับน้ำหนักได้ มากถึง 200 กิโลกรัม โดยสารได้ครั้งละ 3-5 คน โดยจะเริ่มแจกจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.นี้ โดยกรมอุทยานฯจะส่งมอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เป็นหน่วยงานในการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ร้องขอ
...
เสนอกรมประมงจัดการบ่อจระเข้เถื่อน
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีประชาชนโทรศัพท์มาร้องเรียนเรื่องพบเห็นจระเข้จำนวนมาก ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 สาย ซึ่งคาดว่าเวลานี้มีจระเข้หลุดออกมาจากฟาร์มเลี้ยงจำนวนมาก แม้กระทั่งกรมประมงเองยังไม่สามารถบอกจำนวนได้ เพราะที่ผ่านมา มีฟาร์มจระเข้ที่ไม่จดทะเบียนจำนวนมาก จึงเกิดปัญหา เมื่อจระเข้หลุดออกมาแล้วไม่สามารถตรวจสอบได้ กรมอุทยานฯจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ ไปช่วยในการจับจระเข้แล้ว หลังน้ำลดอยากจะเสนอให้กรมประมงเร่งจัดการกับบ่อจระเข้เถื่อนให้เด็ดขาด มิฉะนั้น ปัญหาจระเข้หลุดตอนน้ำท่วมและไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน เป็นแบบนี้ทุกครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญเตือน 10 วันอันตราย
วันเดียวกัน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 28-30 ต.ค.นี้ ถือเป็นช่วง 10 วันอันตราย ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะจากการติดตามข้อมูลของศูนย์ฯ พบว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่ จ.นครสวรรค์ 4,600 ลบ.ม./วินาที เริ่มชะลอตัวลงแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ต.ค.54 เหลือ 4,560 ลบ.ม./วินาที หมายความว่าช่วงก่อนหน้านี้เป็นช่วงมวลน้ำสูงสุดไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ไปแล้ว ดังนั้นอีก 7 วัน หรือประมาณวันที่ 25 ต.ค. มวลน้ำก้อนดังกล่าวจะไหลมาถึง จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี จากนั้นอีก 3 วัน หรือประมาณวันที่ 28 ต.ค. น้ำจะมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่น้ำทะเลจากอ่าวไทยจะหนุนขึ้นสูงอีกครั้งหนึ่ง และจะหนุนสูงขึ้นกว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ด้วย
ทวีวัฒนา–ธนบุรีมีสิทธิ์ท่วม
“กองทัพเรือคำนวณว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีก 30 ซม. จากที่เคยสูงสุดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ระดับน้ำสูง 2.29 เมตร เป็น 2.59 เมตร ระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค. ขณะที่คันกั้นน้ำของกรุงเทพฯสูงเพียง 2.50 เมตรเท่านั้น หมายความว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะล้นข้ามคันกั้นน้ำในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ เห็นว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เพราะแม่น้ำท่าจีนรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาใน ปริมาณมาก เมื่อถึงช่วงน้ำทะเลหนุนน้ำในแม่น้ำท่าจีนจะเอ่อล้นดันกลับเข้าสู่คันคลองต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ซึ่งคันกั้นน้ำฟันหลอ หรือมีไม่ครบตลอดแนว และน้ำอาจเอ่อล้นท่วมเขตธนบุรี และเขตทวีวัฒนาได้”
รังสิต–คลองหลวง อาการจะหนัก
สำหรับด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ปริมาณน้ำค้างทุ่งจำนวนมหาศาล จะเข้ามาเติมในแม่น้ำสายสำคัญอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำไม่ลดลงเลย แม้ว่าฝนทางภาคเหนือเริ่มเบาบาง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลดการระบายน้ำแล้ว หมายความว่าจะยังคงมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสักลงมาทางทิศใต้ เส้นทางเดียวกับที่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และเขตรังสิตของกรุงเทพฯ ให้หนักขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ต.ค. น้ำจากนิคมฯโรจนะ ข้ามคันคลองระพีพัฒน์ฝั่งตะวันตกแล้ว ไหลลงคลองรังสิต คลอง 1 และเอ่อล้นข้ามคลองเข้าสู่คลอง 2 และคลอง 3 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งท้ายที่สุดน้ำจะเอ่อล้นเข้าสู่คลองรังสิตครบทุกคลอง
...
ต้องสกัดน้ำไม่ให้เอ่อล้นคลองรังสิตฯ
ดร.เสรีกล่าวต่อว่า จุดยุทธศาสตร์ในการป้องกันกรุงเทพฯชั้นในไม่ให้ถูกน้ำท่วมในขณะนี้ คือ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นคลองใหญ่รับน้ำจากคลองรังสิตทั้ง 12 คลอง และถือเป็นคันกั้นน้ำชั้นสุดท้ายของกรุงเทพฯ ชั้นใน หากน้ำจากนิคมฯ โรจนะยังเอ่อล้นข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ได้ เขตต่อไปของกรุงเทพฯที่ต้องรับน้ำคือ เขตดอนเมืองและเขตสายไหม ซึ่งเรื่องนี้ศูนย์ได้รายงานให้รัฐบาลทราบแล้ว และรัฐบาลได้สั่งการให้เร่งเสริมระดับความสูงคันกั้นน้ำในเขตรังสิตขึ้นเป็น 4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และสั่งการให้สร้างคันกั้นน้ำเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่งตลอดแนวคลองหกวา ในเขตสายไหม เพื่อปกป้องกรุงเทพฯชั้นในให้ถึงที่สุด
สศช.ตั้งมาตรการช่วยคน 4 กลุ่ม
ในขณะที่รัฐบาลยังระดมกำลังเต็มที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ที่สำคัญคือ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำลดเป็นระบบและรวดเร็ว จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 4 กลุ่มคือประชาชนทั่วไป, เกษตรกร, ผู้ประกอบการ และแรงงาน สำหรับมาตรการช่วยเหลือ 1.กลุ่มประชาชน แบ่งเป็นให้เงินช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินครัวเรือนละ 5,000 บาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยจัดตั้งศูนย์บริการประชาชนในจังหวัดที่เกิดอุทกภัยขึ้น ณ สำนักงานคลังจังหวัด 2.
ช่วยเหลือค่าเสียหายด้านที่พักอาศัยและทรัพย์สิน เช่น บ้านเสียหายทั้งหลัง จะได้เงินประมาณ 60,000 บาท บ้านเสียหายบางส่วน 40,000 บาท ทรัพย์สินเสียหายเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท
...
ให้สินเชื่อปลูก–ซ่อม–สร้างบ้านใหม่
นอกจากนี้ จะมีมาตรการสินเชื่อเพื่อปลูกซ่อมแซม สร้างบ้านใหม่ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5 ปี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงมาตรการทางภาษี ยกเว้นชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การผ่อนผันชำระหนี้ค่าน้ำค่าไฟ 2. เกษตรกร เช่น การจำหน่ายหนี้สูญกรณีเสียชีวิตรัฐบาลรับภาระหนี้แทน ขยายเวลาชำระหนี้เกษตรกร และงดคิดดอกเบี้ยของสหกรณ์/กลุ่มสหกรณ์ และให้สินเชื่อเพิ่มเติม รายละไม่เกิน 100,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี 3.ผู้ประกอบการ เช่น เร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว การสนับสนุนมาตรการสินเชื่อและภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและกลุ่มเอสเอ็มอี ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน และอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ออกไปอีกไม่เกิน 1 ปี สำหรับการผ่อนชำระค่าน้ำค่าไฟ และ 4. ภาคแรงงานเช่น ขยายระยะเวลาหรืองดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ของลูกจ้าง ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานในสถานประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จัดทำโครงการช่วยเหลือแรงงานและผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ เป็นต้น
...