อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงเพิ่มกรณี “โควิดสายพันธุ์อินเดีย” เป็น 12 คนงานแคมป์ก่อสร้างหลักสี่ อีก 3 เป็นคนร่วมบ้าน เร่งติดตามผู้สัมผัสเข้มข้น ชี้ วัคซีนแอสตราเซเนกาป้องกันได้
เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. วันที่ 21 พ.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) 15 ราย ในคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างที่เขตหลักสี่ หลังการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงเชื้อ หรือการกลายพันธุ์ตลอดเวลาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบจากอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยสายพันธุ์ที่ให้ความสนใจคือ
1. กลายพันธุ์แล้วแพร่ระบาดง่ายขึ้น
2. ทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น
3. ทำให้การใช้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ หรือป้องกันโรคได้ไม่ดี
สำหรับสายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตา ประกอบด้วย สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ และทั้ง 4 สายพันธุ์นี้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยร่วมกับมหาวิทยาลัย ห้องปฏิบัติการต่างๆ มีการถอดรหัสพันธุกรรม รวบรวมข้อมูล รวมถึงใช้หลักระบาดวิทยาในการอ้างอิง สายพันธุ์ที่มีการระบาดในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่มีการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ขณะที่สายพันธุ์อินเดียมีการค้นพบในหลายประเทศ ทั้ง อังกฤษ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนเมียนมาและกัมพูชา ยังมีข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อได้ว่าอาจจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นไทยก็มีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดรอดเข้ามาและแพร่ในประเทศได้ โดยจะมีการจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
...
ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมทำงานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แคมป์ก่อสร้างหลักสี่ จากนั้นนำ 61 ตัวอย่าง ไปตรวจหาสายพันธุ์ พบว่าตรงกับสายพันธุ์อินเดีย 15 คน เป็นเพศชาย 7 คน และเพศหญิง 8 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี ส่วนใหญ่อาการน้อยและยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
“ในจำนวน 15 ตัวอย่าง พบว่าเป็นคนงานที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คน เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนในแคมป์คนงาน จะต้องมีการดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคและเร่งรัดติดตามทั้ง 15 คน ว่าอาการเป็นอย่างไร เบื้องต้นได้รับรายงานว่าอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง และจะมีการติดตามผู้สัมผัสเพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นต่อไป”
นพ.โอภาส ระบุเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจากประเทศอังกฤษ (Public Health England) ในเรื่องสายพันธุ์อินเดีย ว่า 1. การแพร่กระจายโรคไม่ต่างจากสายอังกฤษ 2. ความรุนแรงของโรค ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ และ 3. การไม่ตอบสนองต่อวัคซีน (ดื้อต่อวัคซีน) พบว่า สายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนหลักที่กำลังจะใช้คือ แอสตราเซเนกา ยังสามารถป้องกันสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ประเทศอังกฤษใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นหลัก ปรากฏว่าการระบาดลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมโรคในเขตกรุงเทพฯ กำลังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด รวมถึงจัดทีมสนับสนุนการติดตามผู้สัมผัส การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการสนับสนุนการรักษาพยาบาลในจุดต่างๆ โดยพร้อมจะรายงานข้อมูลต่อประชาชนเป็นระยะต่อไป.