ชุดสืบสวนตำรวจ “สอบสวนกลาง” ทลายเครือข่ายเปิดบริษัทหลอกลวงเหยื่อลงทุน 5 รูปแบบ มีผู้หลงเชื่อนับพันคน มูลค่าเสียหายพันล้านบาท หลังเหยื่อแห่แจ้งความ ตำรวจซุ่มรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับ 6 คน บุกค้น 9 จุดพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวบหมอทหาร พ.ท.พญ.โรงพยาบาลในเมืองโคราช พร้อมพวกรวม 4 คนสอบเครียด แต่ยืนยันให้การปฏิเสธ ส่วนหัวหน้าเครือข่าย “นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก” และผู้ต้องหาอีกคนยังหลบหนี
ตำรวจ บช.ก.ทลายเครือข่ายหลอกลงทุน เปิดเผยขึ้นที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 พ.ค. พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พ.ต.อ.มนตรี เทศขัน รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.อ.นิตติโชติ เพ็ญจำรัส ผกก.4 บก.ปอศ. แถลงผลการสนธิกำลังปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 9 จุด พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จับกุมผู้ต้องหาเครือข่ายบริษัทหลอกลวงนักลงทุน 4 คน ประกอบด้วย พ.ท.พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข อายุ 34 ปี แพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ประธานโครงการเที่ยวเพื่อชาติ น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม อายุ 33 ปี น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ อายุ 37 ปี และนายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ อายุ 40 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม กล่าวว่า สืบเนื่องจากผู้ต้องหาเครือข่ายดังกล่าว มีพฤติการณ์ร่วมกันตั้งบริษัทขึ้นมาหลายแห่งลักษณะเครือข่ายใหญ่ ก่อนหลอกชักชวนให้ผู้เสียหายที่เป็นนักลงทุนนำเงินมาร่วมลงทุนหลายรูปแบบ อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูง ช่วงแรกจ่ายเงินค่าตอบแทนจริง เพื่อหลอกให้เหยื่อตายใจนำเงินมาลงทุนเพิ่ม จากนั้นเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงินค่าตอบแทน หรือคืนเงินลงทุนให้ผู้เสียหายตามตกลง ก่อนขาดการติดต่อในที่สุด ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อแล้วนับพันราย มูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท รวมตัวเข้าแจ้งความที่ บก.ปอศ. ด้วยความที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก รวมถึงมูลความเสียหายค่อนข้างสูง พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก.ตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย บก.ป. บก.ปอศ. และ บก.ปอท.เร่งสอบสวนคลี่คลายคดี ออกหมายจับผู้ต้องหารวม 6 คน พร้อมเปิดปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 คน ตรวจยึดเอกสารหลักฐานต่างๆ จำนวนมากมาตรวจสอบ เหลือผู้ต้องหาอีก 2 คนอยู่ระหว่างหลบหนี ชุดสืบสวนกำลังติดตามตัว “ส่วนกรณีปรากฏภาพนักการเมืองระดับประเทศไปร่วมงานเปิดตัวบริษัทในเครือกลุ่มผู้ต้องหา ต้องถูกเชิญตัวมาสอบสวนหรือไม่นั้น ส่วนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าเกี่ยวข้องหรือไม่” ผบก.ป.กล่าว
...
ด้าน พ.ต.อ.นิตติโชติ เพ็ญจำรัส กล่าวว่า พฤติกรรมหลอกลวงของกลุ่มผู้ต้องหามี 5 รูปแบบ 1.เปิดบริษัทท่องเที่ยวชักชวนผู้เสียหายซื้อแพ็กเกจทัวร์ แต่ไม่จัดท่องเที่ยวจริง 2.ชวนนำเงินมาร่วมลงทุนรูปแบบสหกรณ์ อ้างให้ปันผลสูง แต่สุดท้ายไม่มีปันผล 3.ชักชวนลงทุนซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์จากบริษัทในเครือผู้ต้องหาปล่อยให้เช่า กลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าจะบริหารจัดการค่าตอบแทนให้ทั้งหมด แต่ผู้เสียหายไม่เคยเห็นหรือจับต้องสินค้าจริง 4.ชักชวนให้นำเงินสดหรือทองคำมาร่วมกองทุนส่วนตัวของกลุ่มผู้ต้องหา อ้างว่าทุก 21 วันจะได้เงินคืนร้อยละ 9.5 ของเงินลงทุน และ 5.ชักชวนให้ลงทุนซื้อทองคำจากร้านจำหน่ายทองคำทั่วไป แล้วนำทองคำพร้อมใบเสร็จมาลงทุนตามโปรโมชันของบริษัทยอดการลงทุนคำนวณจากราคาทองคำตามที่ระบุในใบเสร็จ ผู้ลงทุนจะได้รับผลกำไรตอบแทนร้อยละ 43.5 ของเงินลงทุน แบ่งจ่ายกำไรเป็น 2 งวด พร้อมแบ่งจ่ายคืนเงินต้นรวม 10 งวด
มีรายงานด้วยว่า สำหรับผู้ต้องหาเครือข่ายดังกล่าวที่ยังหลบหนีอีก 2 คน ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อายุ 45 ปี ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน ทำหน้าที่เหมือนตัวการใหญ่ หรือหัวหน้าขบวนการ และนายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์ อายุ 55 ปี รองประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือ ขณะนี้ชุดสืบสวนยังคงกระจายกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแสที่ซ่อนตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่ายังหลบหนีอยู่ในประเทศ นอกจากนี้ยังเร่งดำเนินการตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินและทรัพย์สินต่างๆของเครือข่าย เพื่อตามยึดทรัพย์นำเข้าสู่กระบวนการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายต่อไป ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 4 คนที่ถูกจับกุมแล้ว จากการสอบสวนเบื้องต้นทั้งหมดยังคงยืนกรานปฏิเสธ
มีรายงานอีกว่า จากการตรวจสอบนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก หัวหน้าเครือข่ายดังกล่าวพบว่าเคยมีข้อพิพาทกับ น.ส.พรรณิการ์ หรือช่อ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า หลัง น.ส.พรรณิการ์ออกมาเปิดโปงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกองทัพไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพ อนุญาตให้กองทัพใช้เซิร์ฟเวอร์ฟรีจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาด้วย