การยางฯ เผยวิกฤติโควิด-19 ส่งผลหนุนให้อุตสาหกรรมยางพาราบ้านเรา มีการใช้น้ำยางข้นในประเทศเพิ่มขึ้นเท่าตัว สถานการณ์ยางน่าจะไปได้ดี มีโอกาสทำกำไรมากขึ้น

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะโรงงานผลิตถุงมือยาง ที่ตอนนี้มีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีการใช้น้ำยางข้นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 3-4 แสนตัน จากเดิมที่ใช้อยู่ 1-2 แสนตัน 

ขณะที่ความต้องการถุงมือยางทั้งโลกในปี 2563 ประมาณ 3.3 ล้านชิ้น และความต้องการปี 64 มีมากถึง 4.2 ล้านชิ้น ทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของประเทศต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดถุงมือยาง เช่น บริษัทศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง จาก 27,153 ล้านชิ้นเป็น 70,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 เป็นต้น

...

ทั้งนี้ การส่งออกถุงมือยางเมื่อปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 72,680.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 95% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับสองของโลก ครองส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 18% หรือ 47,000 ล้านชิ้น ขณะที่มาเลเซียครองส่วนแบ่งตลาด 60%

"จากแนวโน้มความต้องการน้ำยางข้นของโลก ทำให้ทราบว่าในปีนี้ปริมาณการใช้น้ำยางข้นในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จึงไม่ค่อยจะห่วงในเรื่องปริมาณความต้องการน้ำยางข้น สำหรับผลผลิตน้ำยางข้นทั้งประเทศ ปีนี้จะมีประมาณ 1 ล้านตัน โดยส่วนหนึ่งจะส่งไปจีนและมาเลเซีย ที่ผ่านมาเราใช้เองไม่มากประมาณ แสนกว่าตัน แต่คราวนี้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว 3-4 แสนตัน ในปีนี้สถานการณ์ยางพาราน่าจะไปด้วยดี จึงคาดว่าในอนาคตโรงงานผลิตถุงมือยางจะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่ายางสังเคราะห์แต่มีกำไรสูงกว่า ดังนั้นโรงงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้น้ำยางข้น หรือน้ำยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์  เพราะกำไรและราคามันห่างกันเยอะ ถ้าเปลี่ยนมาใช้ยางธรรมชาติ โอกาสในการทำกำไรก็จะเห็นมากขึ้น" นายณกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองสถานการณ์น้ำยางข้นว่าจะเป็นตัวชูโรง เนื่องจากน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถุงมือยาง สำหรับในระยะถัดไปน้ำยางข้นน่าจะยังมีศักยภาพต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่ที่หันมาใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้นในระยะยาว สำหรับในระยะถัดไปอีกคือ ในช่วงปี 2563-2570 คาดว่า มูลค่าตลาดถุงมือยางของโลกจะยังขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.6 ต่อปี แสดงถึงความต้องการน้ำยางข้นที่มีรองรับต่อเนื่อง ขณะที่อุปทานยางพารา คาดว่า น่าจะให้ภาพที่เพิ่มขึ้นตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต เนื่องจากเข้าสู่วงรอบของปรากฏการณ์ลานีญากำลังอ่อนที่จะทำให้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของผลผลิตยางพาราน่าจะน้อยกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของความต้องการถุงมือยางโลก ทำให้ภาพรวมราคายางพาราน่าจะสามารถประคองตัวต่อไปได้จากปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ.