กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่หรือสตาร์ตอัพ ให้มีความพร้อมผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น มุ่งเน้นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อขยายฐานไปสู่ตลาดโลกและสร้างเครือข่ายคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ 25 ทีม คาดเกิดการร่วมลงทุนผ่านการสนับสนุนเงินทุน 500 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดทำโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือสตาร์ตอัพ (Startup) ที่ปัจจุบันมีจำนวนรวม 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ตอัพคือ ปัญหาต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจและต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน
นายสุริยะกล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ในประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ จากบริษัทเอกชนชั้นนำที่สนใจลงทุนในการต่อยอดธุรกิจ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจ จำนวน 25 ทีม คาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนเงินทุน 500 ล้านบาท
นายสุริยะกล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาด ในการสนับสนุนให้สตาร์ตอัพประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ เฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพและสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวง เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพและนวัตกรรมของไทย การขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ
...
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น ด้วยการคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ 25 ทีม จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม ดำเนินการบ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการตลาด สนับสนุนให้สตาร์ตอัพที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ
“กรมได้เน้นคัดเลือกสตาร์ตอัพ 4 สาขาคือ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Tech) สาขาเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Tech) สาขาเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) และสาขาไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ซึ่งมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมแพลตฟอร์มวินิจฉัยปัญหาและควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 20% นวัตกรรมระบบเก็บข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุกแบบอัตโนมัติผ่านระบบเอไอและกล้องซีซีทีวี” นายณัฐพลกล่าว