โควิดระบาดในช่วงแรกเมื่อปีที่แล้ว ไทยมีการล็อกดาวน์ ทำให้ครม.ต้องเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ออกไปก่อน ไม่มีกิจกรรมใดๆในวันสงกรานต์ เหมือนเช่นที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกของไทย และในปี 2564 ยังคงต่อสู้กับโควิดรอบใหม่ แต่มาตรการต่างๆ มีการผ่อนคลาย จัดให้มีกิจกรรมสงกรานต์ เฉพาะการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ตามประเพณีเท่านั้น และสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้
ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มมีคนจำนวนมาก ไม่สามารถทำได้ ทั้งการสาดน้ำ ประแป้ง เพราะเป็นการสัมผัสใกล้ชิด รวมถึงการจัดคอนเสิร์ต หรือปาร์ตี้โฟม ทำให้สงกรานต์ปี 2564 ไม่เหมือนเดิม และหากโควิดคุมไม่อยู่ ยาวไปจนถึงสงกรานต์ปี 2565 ก็คงได้เห็นการจัดกิจกรรมแบบวิถีใหม่ต่อไปอีก จนกลายเป็นความเคยชินของคนไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้
เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะโควิด แล้วสภาพอากาศเดือนเมษายนในช่วง "เทศกาลสงกรานต์" ปี 2564 จะเป็นอย่างไร? ร้อนมากขึ้นทุบสถิติ หรือยังคงร้อนอบอ้าวเสมอต้นเสมอปลาย ต้องมาลุ้นกัน เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์เกือบทุกๆ ปี มักมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และหลายพื้นที่ลูกเห็บตก ทำให้คลายร้อน หลังอากาศร้อนอบอ้าวมาหลายวัน จนคนบ่นทั่วบ้านทั่วเมือง
ปกติแล้วเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ร้อนอบอ้าวที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะไทยตอนบน มักมีอุณหภูมิสูงสุดและอากาศร้อนถึงร้อนจัด จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ และเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์แผ่รังสี ตั้งฉากกับพื้นที่ประเทศไทย ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน
...
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า เดือนเมษายน ปี 2564 ปริมาณฝนจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 20% และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของประเทศไทย จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย โดยช่วงวันที่ 12-18 เมษายน ภาคเหนือ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 38-40 องศาฯ ขณะที่ภาคอีสานและภาคกลาง 37-39 องศาฯ ส่วนภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก 34-36 องศาฯ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก 33-35 องศาฯ และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 35-37 องศาฯ
หากเทียบกับสถิติสภาวะอากาศประเทศไทย ในเดือนเมษายน ปี 2563 พบว่า ไทยตอนบนอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดหลายพื้นที่ในภาคเหนือและกลาง อุณหภูมิสูงสุด 42 องศาฯ ในอำเภอเถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 ส่วนภาคใต้ อากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดเดือน อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมีค่าปกติสูงกว่าสถิติเดิม
เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือไม่ว่าอากาศจะร้อนจัดหรือฝนถล่ม ลูกเห็บตกจนหลังคาพัง และควรติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด แต่ในเบื้องต้น “ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย” รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ในฐานะโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายถึงสภาพอากาศในช่วงสงกรานต์ เดือนเมษายน ว่า หลังจากมวลความกดอากาศกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอ่อนกำลังลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนเกิดพายุฤดูร้อน และจากกระแสลมตะวันตกพัดผ่านเมียนมาในช่วงนี้จนถึง 30 มีนาคม เข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ทำให้ประเทศไทยตอนบนร้อนจัด จะทำให้เกิดพายุฤดูร้อนเพิ่มมากขึ้น มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่
“ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดพายุลมกระโชกแรง ฝนฟ้าคะนอง และทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะแจ้งเตือนอีกครั้ง โดยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมีค่าต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย สภาพอากาศทั่วไปก็ยังคงร้อนอยู่ จนถึงร้อนจัดในบางพื้นที่ หากฟ้าครึ้มฝนจะตกมากสูงกว่าค่าปกติ ทำให้อากาศเย็นลงบ้าง สรุปแล้วบางพื้นที่ในช่วงเดือนเมษา จะมีทั้งอากาศร้อน ฝนตก และลูกเห็บตก”
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศอีกคนของเมืองไทย “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกให้เห็นภาพชัดๆ จากโมเดลจำลองสภาพอากาศ เมื่อถึง "วันสงกรานต์" สภาพอากาศจะเป็นเช่นไร โดยมีแนวโน้มจะออกไปทางชุ่มฉ่ำทั่วหล้า ซึ่งก่อนสงกรานต์จนมาถึงวันสงกรานต์ จะเกิดฝนตกหนักในภาคใต้ และอาจเกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน มีฝนตกเช่นกัน แต่ไม่หนักมาก ทำให้สงกรานต์ปีนี้ชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วทุกภาคไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา น่าจะลดลงประมาณ 0.5-1 องศาฯ จากอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย
...
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้สงกรานต์ปีนี้ฝนตกหนัก ขณะที่การคาดการณ์สภาพอากาศในระยะยาวของหลายฝ่าย ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่าปีนี้ฝนจะทิ้งช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม โดยปริมาณฝนจะน้อย จากสิ่งที่เคยกังวลจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 จึงหมดห่วงไป ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางไม่น่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ ยกเว้นภาคใต้อาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ได้ ต้องติดตามกันต่อไป.