"อธิบดีกรมธนารักษ์" ปลื้ม ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต จ่อหารือกรมการขนส่งทางบก บขส. สนข. และกทม. เพื่อพิจารณาพื้นที่ชดเชย สถานีขนส่งผู้โดยสาร และการก่อสร้างทางยกระดับเข้า-ออก เชื่อมถนนวิภาวดีฯ ภายใน มี.ค.64

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย นายคณาวุฒิ สิติธีรพันธุ์ ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุ นางพวงพกา ร้อยพรมมา เลขานุการกรม และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ณ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต



นายยุทธนา กล่าวว่า โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 สืบเนื่องมาจากที่กรุงเทพมหานครได้ทำสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครกับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC โดยมีเงื่อนไขให้กรุงเทพมหานครต้องจัดหาที่ดินบริเวณสวนลุมพินีให้ BTSC นำมาใช้เป็นอู่จอดสถานีใหญ่และศูนย์ควบคุม แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถจัดหาพื้นที่สำหรับเป็นอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าตามสัญญาฯได้ จึงได้ทำการศึกษาหาพื้นที่อื่นทดแทน

...

"ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่า พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองดูแลของกรมการขนส่งทางบก (ในขณะนั้นใช้ประโยชน์เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร) เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด กรุงเทพมหานครจึงได้แจ้งความประสงค์ขอใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ จนนำไปสู่การจัดทำการจัดทำบันทึกข้อตกลงหลักการให้ใช้ที่ราชพัสดุเพื่อสร้างศูนย์ขนส่งระบบรถไฟฟ้าและรถยนต์โดยสารกรุงเทพมหานครตอนบน เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2536 ระหว่าง กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และกรมธนารักษ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการสมควรใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุดังกล่าวร่วมกัน" นายยุทธนา กล่าว

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ มาพัฒนาจัดหาประโยชน์ตามแนวทางที่คณะทำงานพิจารณาดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตกำหนด ซึ่งได้มีการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอาคารเป็นที่ตั้งโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร และสถานีขนส่งร่วมกัน โดยให้กรมการขนส่งทางบกส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์มาบริหารจัดการ และมีเงื่อนไขต้องสร้างสถานีขนส่งชั่วคราวที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 และสถานีขนส่งถาวรในบริเวณเดิมให้ บขส.

ในการนี้ กรมธนารักษ์จึงได้เปิดประมูลพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดย บริษัท ซันเอสเตท จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT)) เป็นผู้ชนะการประมูล ได้เสนอค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ 550 ล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่โครงการ 888,046 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ชดเชย 112,000 ตารางเมตร (อาคารสถานีขนส่ง พื้นที่ใช้สอยราชการ) และพื้นที่พาณิชย์ 776,046 ตารางเมตร (อาคารสำนักงาน พื้นที่พาณิชย์ และที่จอดรถ)

โดยกรมธนารักษ์ได้จัดทำสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตกับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2539 แต่เนื่องจากในปี 2544 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า สัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่ในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่ง หมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 8 ส.ค.2539 ระหว่างกรมธนารักษ์ และบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน ทำให้สัญญาดังกล่าวหยุดชะงักไปชั่วคราว โดยกรมธนารักษ์ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ต่อมาในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

นายยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ตามนัยมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยการแก้ไขสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 8 ส.ค.2539 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนที่จะมีการลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการฯ ต่อไป รวมทั้งให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

...

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้แจ้งให้ BKT ดำเนินการออกแบบ Conceptual Design ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง BKT ดำเนินการออกแบบ Conceptual Design และในปี 2562 ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ทั้งนี้ ปี 2563 กรุงเทพมหานครได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 เพื่อเวนคืนที่ดินสำหรับสร้างและขยายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต ระยะเวลาใช้บังคับมีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.2563 ถึง 21 ส.ค.2567

...

และเมื่อเร็วๆ นี้ กรมธนารักษ์ได้จัดประชุมหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ BKT เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชยในโครงการฯ และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า-ออกโครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งในที่ประชุมมีมติมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก และ บขส. พิจารณารูปแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชดเชย 100,000 ตารางเมตร เพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.2564 เมื่อได้ข้อยุติแล้วให้กรมธนารักษ์จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่าง กรมธนารักษ์ กรมการขนส่ง ทางบก บขส. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชดเชยเพื่อเป็นเพื่อเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร และความจำเป็นในการก่อสร้างทางยกระดับสำหรับเข้า-ออกโครงการฯ กับถนนวิภาวดีรังสิต ภายในต้นเดือนมีนาคม 2564

สำหรับการดำเนินโครงการอื่นๆ ได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด พร้อมกล่าวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของกรมธนารักษ์ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี.

...