"กรมพลศึกษา" เร่งส่งเสริมผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมนันทนาการ จับมือ "มรภ.สวนสุนันทา" ทำวิจัยอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์กิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ด้านผลวิจัยชี้ ช่วยผู้สูงอายุแข็งแรง ปลอดโรค ไม่เป็นภาระ รบ.ทุ่มงบรักษา
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 ดร.ทวีโชค พงษ์ดี ผู้อำนวยการสำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเพื่อไม่เป็นภาระของรัฐบาลในการรักษาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมพลศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ดูแลร่างกายให้แข็งแรง จิตใจแจ่มใส ปลอดจากโรค
"การส่งเสริมผู้สูงอายุให้เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เป็นภารกิจของกรมพลศึกษาอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทางกรมได้ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการอย่างหลากหลายอย่าง และล่าสุดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ทำวิจัยเรื่องกิจกรรมนันทนาการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะนำไปสู่การส่งเสริมอย่างเป็นระบบต่อไป" ดร.ทวีโชค กล่าว
ดร.ทวีโชค กล่าวต่อว่า กรมพลศึกษาไม่ได้มีภารกิจส่งเสริมด้านการกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภารกิจในการส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการให้กับคนไทย ตั้งแต่ระดับเยาวชน ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงอายุ มีการพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย และนวัตกรรมนันทนาการ และนำไปส่งเสริมประชาชนในส่วนต่างๆ การวิจัยกิจกรรมนันทนาการในผู้สูงอายุ ที่ทางกรมได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา เป็นการวิจัยกิจกรรมนันทนาการในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 14 จังหวัด ซึ่งมีคนเข้าร่วมประมาณ 5,000 คน ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำอำเภอและจังหวัด ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนในการศึกษาวิจัย
...
ขณะที่ ดร.รัตนา ปานเรียนแสน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า มีการวิจัยพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุ บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมกิจกรรม ตลอดจนรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสม
"ในการวิจัยได้ศึกษาโมเดลกิจกรรมนันทนาการของชมรมออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากโรงพยาบาลนครปฐม ถือเป็นชมรมที่มีความเข้มแข็งมาก มีสมาชิกประมาณ 300 คน โดยวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม ให้การสนับสนุนสถานที่ในการจัดกิจกรรม" ดร.รัตนา กล่าว
ด้าน คุณพวงพันธ์ วุฒิยาสกุล พยายาลวิชาชีพโรงพยาบาลนครปฐม กล่าวว่า ชมรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลนครปฐม ก่อตั้งโดยโรงพยาบาลนครปฐม เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่ม และได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจกว่าการให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆ จากสถิติผู้ที่เป็นสมาชิกชมรมที่เข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีใครแอดมิดเข้าโรงพยาบาลเลย และหลายคนที่เคยมีโรคประจำตัวอาการป่วยก็ลดลง ชมรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุโรงพยาบาลนครปฐม มีคุณพิมพ์เพ็ญ ขุขันธ์ อดีตพยาบาลวิชาชีพ เป็นประธาน เป็นผู้มีบทบาทในชักชวนสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรม การคิดท่าเต้นสำหรับผู้สูงอายุ และการผลิตคนนำเต้น ส่งไปนำเต้นยังกลุ่มชมรม ใกล้เคียงที่ได้ร้องขอมา
"ตอนนี้ อายุ 72 ปีแล้ว สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น เพราะไม่ต้องเครียดกับงานประจำ มีคนบอกว่า หน้าตาสดใสกว่าตอนก่อนเกษียณเสียอีก โรคประจำตัวที่เคยมี ก็ลดลง สมาชิกก็ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นมาตลอด เพราะเรายึดหลักไม่ทิ้งใคร จะให้ทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรม คนที่เริ่มใหม่ ยังไม่เป็นก็จะให้เริ่มจากท่าง่ายๆ ทำให้ทุกคนไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ มีความสุขในการร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบให้หลายชุมชนมาศึกษา และนำไปใช้ ซึ่งเราได้ส่งคนไปนำเต้นและฝึกคนนำเต้น" คุณพวงพันธ์ กล่าว
ดร.รัตนา กล่าวอีกว่า จาก จ.นครปฐม คณะได้ศึกษาทั้ง 14 จังหวัดของภาคกลางตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ หลังการลงพื้นที่ 14 จังหวัด คณะวิจัยได้นำกิจกรรมนันทนาการในผู้สูงอายุของจังหวัดต่างๆ มาประเมิน วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการจัดกิจกรรมนันทนาการผู้สูงอายุ ที่เป็นรูปแบบของกิจกรรมเข้าจังหวะ ที่ไม่หนักเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ แต่จะส่งผลให้กล้ามเนื้อร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูดผู้สูงอายุให้เข้าร่วมกิจกรรม จนได้โปรแกรมที่ตั้งชื่อ "คีตลีลา พฤฒาสราญ" ซึ่งเป็นกิจกรรมเต้นเข้าจังวะเพลง มีท่าเต้นที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ จำวน 350 คน เข้าร่วมทำกิจกรรมตามโปรแกรม โดยมีการประเมินสมรรถภาพทางกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิต ก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม ผลการวิจัยพบว่า หลังจากให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จำนวน 9 ครั้ง ผู้สูงอายุมีผลประเมินสมรรถภาพทางกาย หลังการร่วมทำกิจกรรมดีกว่าก่อนการร่วมทำกิจกรรม และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนผลประเมินสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต มีผลที่ดีขึ้นหลังการร่วมทำกิจกรรม โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ผลจากการสอบถามความคิดเห็นจาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและนันทนาการผู้สูงอายุ พบว่า โปรแกรมนี้สามารถนำไปใช้เป็นกิจกรรมนันทนาการผู้สูงอายุได้ สามารถส่งเสริมให้เกิดความสนุกสนานของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ และมีผลที่ดีเกิดขึ้นกับร่างกาย การนำไปใช้อาจต้องมีการปรับเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมให้มากขึ้น การปรับเปลี่ยนดนตรีให้สอดคล้องกับจังหวะของการเต้นและเคลื่อนไหว และเพิ่มท่าเต้นที่เพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาผู้นำกิจกรรมเพื่อเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่อไป
...
หลังจากสิ้นสุดโปรแกรมแล้ว เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดประกวดการเต้น ซึ่งตอนแรกตั้งใจจะจัดเป็นมหกรรมใหญ่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงให้แต่ละทีมส่งคลิปวิดีโอการเต้นเข้ามา กำหนดการเต้นไว้ที่ 8-15 นาที ซึ่งในทีมที่ส่งเข้ามา 16 ทีม จาก 14 จังหวัด ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ทีมจากพระนครศรีอยุธยา
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ปราโมทย์ เลิศจิตรการุณ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กล่าวว่า กิจกรรมนันทนาการที่ได้จากการศึกษาวิจัย จะได้นำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้กลุ่มชมรมผู้สูงอายุนำไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการส่งเสริมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงเผยแพร่ให้เจ้าหน้าที่พลศึกษา ซึ่งมีอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ และอาสาสมัครกีฬาและผู้นำการออกกำลังกาย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมในแต่ละท้องถิ่นต่อไป ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซด์ www.dpe.go.th
...
นอกจากนี้ ดร.ทวีโชค ผู้อำนวยการสำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "กรมพลศึกษาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เป็นภาระของบุตรหลานของสังคม ลดภาระงบประมาณของรัฐในการดูแล ขอให้ผู้สูงอายุให้ความสนใจในการออกกำลังกาย การเข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกายและนันทนาการ เพื่อร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน"