“อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. สั่งเลื่อนเก็บค่าโดยสารโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 104 บาท ออกไปก่อน หลังรัฐบาลสั่งให้พิจารณาทบทวนโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่ ส.ส.ภูมิใจไทยระบุให้จับตาดูเรื่องนี้ อาจมี เบื้องหน้า-เบื้องหลัง เพราะ กทม.สั่งเลื่อนเก็บค่าโดยสาร วันเดียวกับที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทม. ส่งหลักฐาน สัญญาจ้างเดินรถ-ตารางเก็บค่าโดยสารมาให้พิจารณา

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ใจความสรุปว่า ตามที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.59 มอบหมายให้ กทม. บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเดินรถเมื่อปลายเดือน ธ.ค.63 และ กทม.มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 เตรียมจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อัตราสูงสุด 104 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ต่อมา กทม.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศ โดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของ กทม.ให้เกิดความเหมาะสมภายใต้สถานการณ์วิกฤติโควิด อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติ กทม.เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารดังกล่าว ออกไปก่อน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. เนื่องจากรับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศ ให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ กทม. ยังร่วมหารือแนวทางดำเนินการร่วมกับสภา กทม.เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว อาศัย อำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562 จึงได้ข้อสรุปว่า ให้เลื่อนจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ตามที่เคยประกาศออกไปก่อน

...

อีกด้าน นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย 1 ใน 6 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ยกเลิกประกาศ กทม. วันที่ 29 มี.ค.60 เรื่อง ค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 (ซอยสุขุมวิท 95-ซอยสุขุมวิท 107) ระยะทาง 5.25 กม. และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 (ตากสิน-เพชรเกษม) ระยะทาง 6.3 กม. ทำให้มีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท ซึ่งต่อมามีประกาศ กทม. ให้เลื่อนการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง

ดังกล่าว กล่าวว่าเป็นข่าวดีในระดับหนึ่ง แต่ต้องติดตามเรื่องนี้กันต่อและจะมีเบื้องหน้า-เบื้องหลังอะไรหรือไม่ เพราะการไต่สวนเมื่อวันที่ 4 ก.พ. กทม. ยังยืนกรานว่าต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ เนื่องจากแบกภาระขาดทุนไม่ไหว ทั้งที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างบอกระบุเป็นการปรับขึ้นราคาไม่ถูกต้อง เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชน แต่เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ กทม.ต้องส่งหลักฐานสัญญาจ้างเดินรถ-ตารางเก็บค่าโดยสารให้ศาลปกครองกลางพิจารณา แต่ กทม.กลับออกประกาศเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารออกมา

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอดำเนินงานก่อสร้าง 2 โครงการ รวมวงเงิน 23,930 ล้านบาท โดย 1 ใน 2 โครงการนั้น เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี วงเงิน 4,230 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่อนุมัติเป็นส่วนต่อขยายออกมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานีไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-01 และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานี MT-02 รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 สถานี ระยะเวลาก่อสร้าง 37 เดือน มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12.9 เปอร์เซ็นต์ ผลตอบแทนด้านการเงิน 7.1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณจำนวนผู้โดยสารช่วงเปิดให้บริการเดือน ก.ย.67 ที่ 13,785 คนต่อเที่ยว ส่วนรูปแบบการลงทุนเอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด